ประชุมวิชาการนานาชาติ ระเบียงเศรษฐกิจ หลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย

วันที่ 3 เมษายน 2560 วิทยาลัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้นำผลงานวิจัยซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยจากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่ได้พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง อินโดจีน-เมาะลำไย (Luangprabang-Indochina-Mawlamyine Economic Corridor; LIMEC) ขึ้นมา ร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือล่าง 1 ภายใต้การสนับสนุนหลักของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.)ได้จัดประชุมนานาชาติที่เกี่ยวกับระเบียงเศรษฐกิจนี้จำนวน 2 ครั้ง นั่นคือ การประชุมนานาชาติระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง อินโดจีน-เมาะลำไย ครั้งที่ 1 เรื่อง “ภูดู่ ประตูแห่งมิตรภาพและโอกาส” ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2558 ณ จังหวัดอุตรดิตถ์ และการประชุมนานาชาติระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง-อินโดจีน-เมาะลำไย ครั้งที่ 2 เรื่อง “เปิดประตูมรดกโลก เพื่อการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุน” ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2559 ณ จังหวัดสุโขทัย เพื่อให้ระเบียงเศรษฐกิจดังกล่าว ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีความยั่งยืน

ดร.บุญทรัพย์ พานิชการ ผู้อำนวยการวิทยาลัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า สถาบันการศึกษานับเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันการพัฒนาอย่างเป็นระบบและมีหลักการ การประชุมวิชาการนานาชาติเป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะช่วยให้นักวิชาการและนักวิจัยได้มีโอกาสเผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้จากการดำเนินการวิจัยของตนเอง เปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์กับผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัยและนักวิชาการอื่นๆ รวมทั้งนิสิต นักศึกษา นักธุรกิจและประชาชนทั่วไปที่สนใจ นอกจากนี้ ยังนับเป็นโอกาสที่จะเผยแพร่ผลงานวิจัยให้แก่องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและและภาคธุรกิจนำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งถือเป็นกลไกที่สนับสนุนให้มีการใช้องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาอย่างสูงสุดแก่ชุมชนและสังคม ที่สำคัญระเบียงเศรษฐกิจนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการดำเนินงานวิจัยเพื่อพัฒนาในสาขาที่มีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม สาธารณสุข ท่องเที่ยว การศึกษา และโลจิสติกส์ ดังนั้น หากกลุ่มสมาชิกบนระเบียงเศรษฐกิจนี้(แขวงหลวงพระบาง แขวงไชยะบุลี จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดสุโขทัย จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดตาก รัฐกะเหรี่ยง และรัฐมอญ รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงของระเบียงเศรษฐกิจสามารถพัฒนาองค์ความรู้และแนวทางพัฒนา ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคและของโลกได้สำเร็จ จะได้ประโยชน์ทั้งในด้านความมั่นคงของประเทศ เสถียรภาพทางการเมือง การขยายการส่งออกและโอกาสทางการค้าและบริการ และความมั่นคงทางสังคม

////////

แสดงความคิดเห็น