ชาวบ้านดงเสือเหลืองรื้อฟื้นประเพณีแห่ธงเข้าวัด

 

เทศกาลสงกรานต์แต่ละครั้งที่ผ่านมาส่วนใหญ่ก็จะมีประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัดที่เดินทางกลับมาภูมิลำเนาของตนเองแล้วเฉลิมฉลองกับครอบครัว และทำบุญตักบาตร เพื่อความเป็นสิริมงคล ในหลายภูมิภาคของประเทศประเพณีวัฒนธรรมก็จะแตกต่างกันไป ที่ได้สืบทอดวัฒนธรรมท้องถิ่นในช่วงเดือนเมษายน หรือช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีกระทำกันตลอดทั้งเดือนเมษายน

ตำบลดงเสือเหลือง อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร เป็นอีกตำบลหนึ่งที่มีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ยาวนาน สิ่งหนึ่งที่เมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา เยาวชนคนรุ่นใหม่ เริ่มแปลกตาแปลกใจไม่น้อยที่ผู้เฒ่าผู้แก่ และคนในตำบลดงเสือเหลือง อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ได้คิดที่จะนำวัฒนธรรมโบราณ โดยเฉพาะช่วงของเดือนเมษายน ที่มีลูกหลานได้กลับบ้านมาอยู่กับครอบครัว ได้ร่วมกิจกรรมกันด้วยเช่นกัน ซึ่งประเพณีดังกล่าวคือ การแห่ธงเข้าวัด หรือ ประเพณีถวายผ้าแด่พระภิกษุสงฆ์เพื่อให้ทางวัดได้สามารถนำไปใช้ในศาสนสถาน หรือกิจของสงฆ์ได้

 

นายวิสันต์ จันทร์ทอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงเสือเหลือง กล่าวว่า ประเพณีแห่ธงเข้าวัดของชาวบ้าน ตำบลดงเสือเหลือง นั้นได้กระทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งมีตำนานเล่าว่าชาวบ้านดงเสือเหลืองนั้นดั้งเดิม จะเป็นคนที่อพยพมาจากภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ เมื่อมาถึงภูมิลำเนาแห่งนี้ก็มาปักและแผ้วถางบริเวณแห่งนี้อยู่ทำมาหากินกัน จนระยะหนึ่งได้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ จนล้มหมอนนอนเสื่อ จนน้ำเหลืองไหลนองเสื่อ ทำให้เสื่อเหลือง แต่ด้วยภาษาและสำเนียงของชาวสุโขทัยพูดคุยจาก “เสื่อ” เป็น “เสือ” ทำให้กลายเป็นที่มาของดงเสือเหลือง จนวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่นำผ้าไปถวายพระที่วัดนั้น ต่างก็เชื่อความเมื่อนำผ้าไปถวายแล้วก็จะทำให้ร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ จึงทำให้ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านก็จะรวมตัวกันทอผ้า ยาวไปถวายวัดกันเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้อาชีพเสริมของชาวบ้านนอกจากการทำนาแล้ว ก็คือการทอเสื่อและทอผ้า เก็บไว้ใช้ตามบ้านเรือน จึงสะดวกที่นำผ้ามาถวายพระ และนอกจากจะถวายผ้าให้พระธรรมดาแล้ว ก็ทำเป็นธงประดับดอกไม้ ให้สวยงามแห่ไปถวายพระที่วัด บ้างก็ร้องรำทำเพลงหน้าธงกัน อย่างสนุกสนาน แต่ในระยะหลัง คนในหมู่บ้านได้ออกไปทำงานต่างจังหวัดกันมากขึ้น ทำให้ไม่ค่อยมีผู้สืบทอด ทำให้ในปีนี้คนในหมู่บ้านและตำบลดงเสือเหลือง ได้รวมตัวกันอีกครั้งรื้อฟื้นประเพณีโบราณนี้ขึ้นมา โดยอาศัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งลูกหลานจะกลับมาบ้าน ได้ร่วมกันสืบทอดประเพณีอันดีงามนี้ไว้ อีกทั้งเพื่อเป็นการสร้างความสามัคคีของคนในชุมชนและหมู่บ้านอีกด้วย

โดยช่วงเทศกาลดังกล่าวชาวบ้านในตำบลดงเสือเหลือง ก็ได้ถือฤกษ์ดีที่จะสืบทอดประเพณีกันอีกครั้ง โดยจะหมุนเวียนแต่ละหมู่บ้านไปตามวัดต่างๆ เพื่อให้ชาวบ้านได้รวมตัวกันให้มาก โดยเฉพาะที่วัดกิจวินัยวรรณา หมู่ 3 ต.ดงเสือเหลือง อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ชาวบ้าน 4 หมู่บ้าน   คือ หมู่ 3 บ้านปมประดู่ หมู่ 5 บ้านหนองขานาง หมู่ 12 บ้านนา และหมู่ 13 บ้านคลอง จำนวนกว่า 500 คน นำโดยนางเชื่อม ศึกษา อายุ 92 ปี ผู้เฒ่าผู้เก่าในหมู่บ้าน ได้นำผ้ายาวกว่า 60 เมตร ประดิษฐ์และตกแต่งเป็นธงสีชมพู สวยงาม แห่จากหมู่บ้านของตนเองไปที่วัดกิจวินัยวรรณา หรือ วัดบ้านนา เพื่อนำไปถวายพระ ตามประเพณีโบราณ ที่ห่างหายมานานหลายสิบปี โดยที่ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านหลังจากตกแต่งธงตนเองอย่างสวยงาม แล้วนำมาผูกกับไม้ไผ่ยาวกว่า 15 เมตร แล้วแห่ไปวัดโดยมีแตรวงและนางรำนำเข้าวัดอย่างสนุกสนาน จากนั้น ก็นำธงไปปักไว้ที่บริเวณจัดเตรียมไว้ และโห่ร้องเพลงอย่างกึกก้อง เพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดพระรับรู้ พร้อมทั้งรำวงไปรอบเสาธงที่ปักไว้อย่างสนุกสนาน ท่ามกลางความปราบปลื้มและสนุกสนานแก่ผู้ที่พบเห็นสะท้อนถึงวัฒนธรรมอันดีงามของไทยดังกล่าว ซึ่งหลังจากถวายธงแล้ว ชาวบ้านก็ได้นำผ้าป่าสามัคคีของหมู่บ้านตนเองมาถวายพระเพื่อความเป็นสิริมงคลด้วยเช่นกัน

ซึ่งก็ถือว่าเป็นประเพณีที่เก่าแก่และควรค่าสืบทอดให้ลูกหลานได้ตระหนักและอนุรักษ์ไว้มิให้ห่างหายไปจากคนในท้องถิ่น หรือสังคมไทยได้ เพราะนอกจากจะเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมที่เก่าแก่แล้ว ถือว่าเป็นการสร้างความสามัคคี ความเข็มแข็งของคนในชุมชนนั้นๆ ถึงแม้ว่าปีหนึ่งจะมีครั้งเดียวเท่านั้น แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเล็กๆที่สร้างความอบอุ่นของสังคมไทยเฉกเช่นในอดีตโบราณที่ผ่านมาครับ

 

 

 

 

////

ธเนส อนุดิษฐ/รายงาน

 

 

 

แสดงความคิดเห็น