น้ำตาชาวนา

น้ำตาชาวนา

น้ำท่วมปีนี้เสียหายไม่ใช่น้อย ในเขตอ.บางระกำ อ.พรหมพิราม และอ.เมืองพิษณุโลกบางส่วน มิใช่น้อยคือนาข้าวที่กำลังออกรวง สีเขียวแก่ ๆ ใกล้จะเหลืองสุก ถ้าเป็นปีปกติ เหลืออีก 1-2 สัปดาห์ ท้องทุ่งเหล่านี้ก็จะเต็มไปด้วยรถแทรค ออกเกี่ยวข้าวเสียงดั่งกระหึ่ม

                แต่ปีนี้น้ำยมมาเร็วและแรงมาก ผิดธรรมชาติที่ชาวนาจะตั้งตัวได้ทัน ข้าวกำลังจะแก่ ค่อย ๆ ถูกน้ำท่วมทุ่งเพิ่มระดับขึ้นเรื่อย ๆ จนมิดยอดข้าว ครั้นจะปล่อยไว้นั่งมองน้ำท่วมไปโดยสูญเปล่าก็กระไรอยู่ จึงเห็นภาพชาวนาระดมเพื่อนบ้าน ลงเรือลอยคอออกไปเกี่ยวข้าวในทุ่งนาที่เจิ่งนองไปด้วยน้ำ

                เกี่ยวเสร็จ ใส่เรือ นำมาตากริมถนน สองมือต้องออกแรงใช้ไม้ทุบให้ข้าวออกจากรวง และรอตากแดดให้แห้ง พอจะขายได้บ้างในราคาเกวียนละ 2,000-3,000 บาท

                ชาวนาแต่ละครอบครัวลงทุนทำนาข้าวแต่ละรอบเป็นเงินหลักหมื่นหลักแสน และการทำนาสมัยนี้ ต้องเน้นปริมาณพื้นที่จำนวนไร่ให้มากเข้าไว้ เมื่อน้ำบ่ามาท่วมข้าวเสียหายจนหมด ความเครียดจึงเข้าหาทุกครัวเรือน

                ผมเองตระเวนขับรถออกถ่ายภาพทำข่าวน้ำท่วมกำลังท่วม พบเห็นชาวนาลงเรือเกี่ยวข้าว นวดข้าวริมถนน จอดถามสารทุกข์สุขดิบ ได้ข้อมูลและภาพมาเขียนข่าวนำเสนอแล้วรู้สึกหดหู่ใจ ก็รู้ว่าทุกคนเครียด แต่ก็ไม่บ่อยนักจะได้เห็นน้ำตาชาวนา

                มาวันที่ 17 สค.54 นี่เอง ไปทำข่าวชาวนาต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ชูป้ายเรียกร้องขอให้รัฐบาลพิจารณาสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เจอชาวนาผู้หญิงท่านหนึ่งยืนอยู่ ก็ปรี่เข้าไปถาม เมื่อยกกล้องวิดีโอเสร็จยังไม่ทันได้ซักถาม น้ำตาชาวนาไหลพรากออกมาทันที

                นา 14 ไร่ เกือบจะเก็บเกี่ยวได้แล้ว เกือบจะได้เงินแสนแล้ว เรี่ยวแรงที่ลงทุนไป 3 เดือนก่อนหน้านี้สูญเปล่า เธอทำอะไรไม่ได้ จะลงไปเกี่ยวข้าวก็ไม่ได้น้ำท่วมสูงมาก เกิดภาวะเครียดอย่างหนัก นึกถึงวันข้างหน้า ลูกก็เรียนหนังสือ ข้าวปลาอาหารก็ต้องจับจ่าย ไหนจะหนี้เก่า แล้วจะเงินลงทุนรอบใหม่หลังน้ำลด

                เป็นน้ำตาชาวนาที่สะเทือนใจมาก ในการออกทำข่าวครั้งนี้ เราชาวนักข่าว ได้แต่ให้กำลังใจ และสำรวมกิริยามารยาท ระวังคำพูดไม่ให้สะเทือนซ้ำเติมชาวนา

                                                                                เฮียหมง/17สค.2554

แสดงความคิดเห็น