น้ำจะท่วมมั้ย…?

น้ำยมละลอกแรกของปี55 ท่วมที่นาม.9 ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ต้นเดือนมิย.55 ส่วนท่วมหนัก ๆ ยังมาไม่ถึง

เป็นนักข่าว ย่างเข้าหน้าฝนมักเจอคำถามว่า ปีนี้น้ำจะท่วมพิษณุโลกมั้ย..? ตอบยากเหมือนกัน เพราะเป็นคำถามกว้าง ๆ แต่ถ้าเจาะเฉพาะลงไปในบางพื้นที่ที่ขึ้นชื่อว่าน้ำท่วมเป็นประจำอย่างบางระกำ คำตอบคือ ท่วมแน่ จะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง

 

ปี 2554 ชาวเมืองพิษณุโลกคงจำการลุ้นระทึกหน่วยแม่น้ำน่านเป็นเซนติเมตรกันได้ แม่น้ำน่าน ปี 2554 ทำสถิติขึ้นสูงสุด ทำลายสถิติที่เคยขึ้นสูงสุดเมื่อปี 2538 ไปมาก แต่น้ำไม่ท่วมเขตเศรษฐกิจของเมืองพิษณุโลกเหมือนจังหวัดอื่น ๆ ในภาคกลาง ส่วนหนึ่งเพราะการบริหารจัดการที่ดี โดยได้เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมาเป็นตัวช่วยในการบริหารน้ำ ส่วนลุ่มน้ำยมไม่ต้องพูดถึง สถิติของชลประทานเขานับไว้เลยว่าเป็นการท่วมขังที่ยาวนานที่สุดนับแต่เขาบันทึกย้อนหลังมา 10 ปี 141 วัน

 

แล้วปีนี้น้ำจะท่วมหรือไม่ ส่วนตัวเชื่อว่าลุ่มน้ำน่านคงพอเอาอยู่ ลุ่มน้ำยมอย่างอ.บางระกำ อ.พรหมพิราม บ้านแม่ระหันต.บ้านกร่าง มีพื้นที่ที่ถูกน้ำจากแม่น้ำยมท่วมแน่นอน

 

บรรดิษฐ์ อินต๊ะ ผอ.ชลประทานพิษณุโลกให้สัมภาษณ์ทีมข่าวพิษณุโลกฮอตนิวส์

เฉพาะข่าวน้ำท่วม ในทางอาชีพข่าว นักข่าวอย่างผมจำต้องเป็นทั้งบู๊ และบุ๋น ในทางบู๊ ต้องหาภาพ หาเหตุการณ์ รายงานสถานการณ์น้ำท่วมนำเสนอต้นสังกัด ในทางบุ๋น ต้องรู้สภาพทางภูมิศาสตร์ของลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน การบริหารจัดการกับสถานการณ์ที่มีอยู่ โดยส่วนตัวผมชอบการอธิบายของผอ.โครงการชลประทานพิษณุโลก คุณบรรดิษฐ์  อินต๊ะ คนที่ร่วมบริหารจัดการน้ำไม่ให้ท่วมหนักในเขตเทศบาลนครพิษณุโลกและการบริหารจัดการน้ำท่วมพิษณุโลกเมื่อปีที่แล้ว

 

คุณบรรดิษฐ์ เล่าว่า ในปีนี้  พิษณุโลกมีลุ่มน้ำน่านและลุ่มน้ำยม ในส่วนของลุ่มน้ำน่านมีเครื่องมือใหญ่ในการบริหารจัดการ ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ จ.อุตรดิตถ์ ขณะนี้กรมชลประทานพร่องน้ำเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้เหลือน้ำในเขื่อน 46 % ส่วนเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีน้ำในเขื่อน 26 % ก็จะสามารถรองรับน้ำได้มาก และมีเขื่อนนเรศวร ที่เป็นเครื่องมือในการควบคุมปริมาณน้ำ สามารถควบคุมได้ ไม่น่ามีปัญหา ปีที่แล้ว ผ่านมาหนึ่งฤดูการน้ำท่วมหนัก น้ำน่านก็ไม่ได้มีผลกระทบกับตัวเมืองพิษณุโลกนัก ส่วนลุ่มน้ำยมวันนี้มีการพร่องน้ำ นำน้ำนอนคลองออกให้หมด เพื่อเตรียมคลองเหล่านี้ไว้รับน้ำใหม่ ขณะที่การเตือนภัยเรามีสถานีวัดน้ำ Y14 แม่น้ำยมที่อ.ศรีสัชนาลัย และสถานีวัดน้ำแม่น้ำยมที่อ.สอง จ.แพร่ จะสามารถทราบปริมาณน้ำ และแจ้งเตือนภัยได้ทัน

เครือข่ายคูคลอง การบริหารน้ำในเขตลุ่มน้ำยม จ.สุโขัทยและจ.พิษณุโลก

 

ส่วนพื้นที่ตอนล่าง พื้นที่รับน้ำนั้น ที่ลุ่มน้ำต่ำของแม่น้ำยม ณ วันนี้  เรามีการขุดลอกคลองต่าง ๆ เพื่อใช้ระบาย คลองเกตุ คลองกล่ำ คลองกรุงกรัก คลองเมม และการขยายประตูระบายน้ำบางแก้ว ส่วนคลองที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือคลอง DR 2.8 ที่ระบายน้ำจากแม่น้ำยมออกสู่แม่น้ำน่าน ก็มีการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำได้มากขึ้น  ทั้งหมดเตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว ถ้าเกิดฤดูน้ำหลากก็จะใช้เครื่องมือเหล่านี้บริหารจัดการ เพราะลุ่มน้ำยมเราไม่มีเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ในแต่ละปี มีน้ำ 4,100 ล้านลบ.ม. แต่เก็บได้แค่ 406 ล้านลบ.ม. จึงต้องใช้วิธีบริหารจัดการโดยระบบเครือข่ายคลองเหล่านี้

 

แต่ที่น่าห่วงคือลุ่มน้ำวังทอง และลุ่มน้ำคลองชมพู ที่เป็นลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำน่าน เป็นสองลุ่มน้ำที่น่าเป็นห่วงที่สุด เนื่องจากชลประทานไม่มีเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ พื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่ที่มีศักยภาพในการสร้างอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ก็อยู่ในเขตอุทยานฯ ดังนั้นจึงทำได้เพียงการเฝ้าระวังปริมาณน้ำในล้ำน้ำวังทอง และคลองชมพู ด้วยการตัดตั้งสถานีวัดระดับน้ำ จะสามารถแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชนที่อยู่ด้านล่างได้

 

สถิติน้ำท่วมอ.บางระกำ ชลประทานบันทึกไว้ ปี 2554 ท่วมนานมากที่สุด 141 วัน

เฉพาะอ.บางระกำ ชาวบ้านรับได้ว่าน้ำต้องท่วม แต่ควรท่วมในเวลาที่เหมาะสม ท่วมช่วงกลาง ๆ เดือนกรกฏาคม ถึงสิงหาคม หลังชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังรอบที่สองเสร็จ จากนั้น น้ำจะท่วมขัง 3-4 เดือนก็ตาม เมื่อถึงเวลาช่วงเดือนพฤศจิกายน ต้องหาวิธีระบายน้ำออกจากพื้นที่ เพื่อชาวบ้านจะได้เริ่มทำนาปรังรอบแรกทันที เรียกได้ว่า ท่วม 4 เดือน แห้ง 8 เดือนเขาพอรับไหว และในช่วง 8 เดือนที่น้ำไม่ท่วม ก็ต้องหาวิธีดึงน้ำมาช่วยเหลือนาข้าวในเขตอ.บางระกำ

 

สรุป…….ส่วนตัวผมคาดการณ์ว่า อ.บางระกำ อ.พรหมพิราม ต.บ้านกร่าง อ.เมืองพิษณุโลก น้ำจากแม่น้ำยมท่วมแน่นอน จะมากน้อยอยู่ที่ปริมาณฝน ส่วนลุ่มน้ำน่าน คงไม่วิกฤติเหมือนปี 2554 เพราะมีการพร่องน้ำจากเขื่อนหลักออกไปมาก ขณะที่อ.วังทอง อ.เนินมะปราง และอ.บางกระทุ่มบางส่วน ในเขตลุ่มน้ำวังทอง ลุ่มน้ำคลองชมพู จะท่วมหรือไม่…แล้วแต่ชะตาฟ้าลิขิต

 

 

 

แสดงความคิดเห็น