พระประเสริฐ ผู้ใช้เสมาธรรมค้ำผืนป่าเขาเตียน –เขาเขื่อนลั่น

“สุธีร์ เรืองโรจน์”

พระประเสริฐ รกฺขิตสีโล

 

เมื่อ 30 ปี ก่อนพระหนุ่มผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ศิษย์มีครูอย่างหลวงพ่อชา สุภัทรโทนักบุญผู้ยิ่งใหญ่แดนอีสาน คือ พระประเสริฐ รกฺขิตสีโล ได้ออกปลีกวิเวกธุดงค์มาที่ ป่าเขาเตียน –เขาเขื่อนลั่น บริเวณเขาจันทร์งาม อ.สีคิ้ว จ.นครราชศรีมา หวังเพียงเพื่อหาพื้นที่สงบร่มเย็นปฎิบัติธรรมหาหนทางแห่งการบรรลุเฉกเช่นพระอรัญวาสีพึ่งกระทำเมื่อคิดครองเพศบรรพชิต การหาที่พักพิงเพื่อปฎิบัติธรรมในยุคนั้น ผืนป่าคือพื้นที่เป้าหมายหลักของพระทั่วไป ในวันคืนวันที่ผืนป่าเขาเตียน –เขาเขื่อนลั่น  เป็นเพียงป่าหญ้าคา สามารถมองออกไปสุดสายตา เพราะต้นไม้ถูกทำลายไปก่อนหน้านั้น   เพียงเพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเผาหินเพื่ดสกัดปูนขาว  หรือเผาถ่านขาย เป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน ซากตอไม้เป็นกระจักษ์พยานสำคัญชี้ให้เห็นถึงความเสื่อมโทรม ไม่มีอะไรให้คนทั่วไปสนใจแม้แต่จะย่างกายเข้ามาเพราะ ข่าวลือหนาหูเรื่องพื้นที่ของสัมภเวษีอาศัย

แต่หลวงพี่ประเสริฐไม่ได้คิดเช่นนั้น กับมองต่างว่าที่นี่ถูกจริตกับวัตรปฎิบัติ เพราะอย่างน้อยเป็นพื้นที่รกร้างและผู้คนก็ไม่สนใจเพราะไม่เหลืออะไรให้ตัด   พระประเสริฐใช้หญ้าคาที่มีอยู่มากมาทำหลังคาพอได้กันแดดกันลม  ใช้ลานหินมาเป็นรางรินต่อท่อเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ และได้พบว่าที่หน้าผามีภาพเขียนสีโบราณ อายุกว่า 3000 ปี  ควรค่าแก่การดูแลรักษาอย่างยิ่ง   1 พรรษาผ่านไปก็รู้สึกว่าการภาวนาดีขึ้นจิตสงบเป็นไปตามความตั้งใจ  จนความทราบถึงหลวงพ่อชา สุภัทรโทราวปี 2520 ท่านจึงให้ได้สั่งให้พระวัดหนองป่าพง มาร่วมสร้างธุดงสถานเขาจันทร์งามขึ้น และ ได้ขอพื้นที่ จำนวน 15 ไร่จากกรมป่าไม้เป็นพื้นที่วัดโดยหลวงพี่ประเสริฐก็รับหน้าที่ดูแลนับแต่นั้น

 

เส้นทางสายอนุรักษ์ของพระประเสริฐในยุคนั้นไม่ได้เรียบง่ายเพราะ งานอนุรักษ์ป่าไม้ในพื้นที่เขาจันทร์ผาที่เสื่อมโทรมอย่างหนัก นั้นลำพังพระหนุ่มรูปเดียวนั้นไม่อาจจะขับเคลื่อนอะไรได้ แม้จะอาศัยพระเณรที่วนเวียนเข้ามาช่วยปลูก ช่วยดูแลไฟป่าบ้างงานก็ตาม  ธุดงสถานเขาจันทร์งาม ที่เปลี่ยนชื่อภายหลังเป็นวัดเลิศสวัสดิ์ก็เป็นวัดเล็ก ๆในป่าที่สงบห่างไกลผู้คน หลวงพี่ประเสริฐใช้เวลาส่วนใหญ่นอกเหนือจากการปฏิบัตภาวนา มาสร้างวัดด้วยการร่วมกับชาวบ้านหาพันธุ์ไม้ท้องถิ่นอย่างประดู มะค่า มาปลูกเพิ่มในพื้นที่ เฝ้าระวังไฟป่าที่จะเข้ามาในทุกปี และได้รับพื้นโครงการพัฒนาป่าไม้ ซึ่งทางสำนักงานป่าไม้จังหวัดได้จัดสรรพื้นที่รอบบริเวณกว่า 1500 ไร่ ยิ่งเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องมุ่งมั่นและตั้งใจอยากหนัก

แต่วัตรปฎิบัติของพระประเสริฐรูปนี้ในฐานะศิษย์หลวงพ่อชา นักบุญผู้ยิ่งใหญ่สายอิสานก็ได้บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธาจากชาวบ้าน และผู้มาปฎิบัติธรรม ที่พระประเสริฐมักจะพูดถึงหลักธรรมที่มีหลักยึดเดียวกันกับธรรมชาติแก่ญาติโยมเสมอ  พลังแห่งศรัทธาเกิดก่อเป็นความร่วมมือของคน ปีแล้วปีเหล่ากิจกรรมปลูกป่าโดยวัดกับผู้ปฎิบัติธรรม  นักเรียนนักศึกษา โรงเรียนในพื้นที่ ถูกจัดขึ้นเรื่อยมานับแรมปี  ผลงานก็เริ่มเป็นที่ประจักษ์ ป่าไม้คืนกลับมาอย่างสมบูรณ์ สัตว์ป่ามาพักพิง เป็นสถานที่ศึกษา ท่องเที่ยวของผู้คน และเป็นสถานปฎิบัติธรรมที่ท่ามกลางธรรมชาติที่เงียบสงบ เวลาผ่าน 25 ปีเต็ม พระธุดงหนุ่มในวันนั้นกลายมาเป็นหลวงพ่อประเสริฐที่ฝนลงเมื่อใดท่านจะนำกล้าไม้พาชาวบ้าน เดินขึ้นเขาไปปลูกอย่างต่อเนื่อง เป็นพระอาจารย์ของนักเรียนที่เข้ามาเรียนรู้ระบบนิเวศในวัด ปลูกต้นไม้ เดินป่าศึกษาธรรมชาติ เป็นพระที่ทำให้วัดร่มเย็นโดยไม่เฉพาะแต่กายหากแต่ยังร่มเย็นไปถึงจิตวิญญาณของผู้คน ด้วยหลักแห่งธรรมชาติที่ท่านเพียรสร้างสมเพื่อผู้คนเสมอมา รางวัลลูกลูกสีเขียวประจำปี 2555 เป็นประจักษ์พยานของอรหันต์ของผืนป่าผู้ยืนท้าวิถีแห่งงานอนุรักษ์อย่างโดดเด่น เป็นต้นแบบให้กับผู้คนได้เข้าใจว่าป่าไม้กับพระพุทธศาสนาเป็นธรรมชาติผืนเดียวกัน .

/////

 

 

 

 

แสดงความคิดเห็น