อยู่แบบพอเพียง”อุบล ใจโอด”

บ้านดอนม่วง ม.10 ต.วังทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก มีผู้นำหญิงเก่ง เรียนรู้พัฒนาตัวเองจนประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพทางการเกษตรโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ แล้วยังเผยแพร่แนวคิดชักชวนลูกบ้านมาร่วมคิดร่วมทำ จนเป็นหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่คนทั้งจังหวัดมาฝึกอบรม

นางอุบล  ใจโอด อายุ 53 ปี เป็นผู้ใหญ่บ้านม.10 บ้านดอนม่วง ต.วังทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เป็นชาว ต.สมอแข อ.เมืองพิษณุโลก จบการศึกษาชั้นประถม 4 ที่โรงเรียนคุรุประชาคุณูทิศ และจบชั้นม.6 จากการศึกษานอกโรงเรียน อาชีพดั้งเดิมของครอบครัวคือเกษตรกรรมทำนา เมื่อมาได้ครอบครัวและเป็นสะใภ้บ้านดอนม่วง อ.วังทอง ก็มาประกอบอาชีพเกษตรกรรมเช่นกัน

  ผู้ใหญ่อุบล มีนายอารมย์  ใจโอด เป็นเพื่อนคู่ชีวิต การเริ่มต้นชีวิตแบบพอเพียง เมื่ออดีตได้ทำการเกษตรแต่ปรากฎว่าพืชผลที่ปลูกถูกน้ำท่วมเสียหายหลายครั้ง เมื่อปี 2530 จึงได้คิดวางแผนโดยกำหนดว่าจะขุดดินส่วนหนึ่งขึ้นมาถมพื้นที่ที่ต่ำให้สูงขึ้น โดยให้ได้สระและร่องสวน เพื่อเลี้ยงปลา โดยแบ่งที่ดิน 8 ไร่ เพื่อการทำนา 3 ไร่ทำไร่นาสวนผสม 5 ไร่ เวลาผ่านไปประมาณ 4-5 ปี ผลผลิตจากไร่นาสวนผสมของอุบล ใจโอด เริ่มให้ผลผลิตที่มีผลโตรสชาดอร่อย จึงได้แนะนำให้ชาวดอนม่วงลองไปปฏิบัติ เมื่อเห็นตัวอย่างดีๆ ชาวดอนม่วงเริ่มทำปุ๋ยหมักและปุ๋ยชีวภาพไว้ใช้ในครัวเรือน เมื่อเริ่มใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยน้ำชีวภาพผักสวนครัวที่ปลูกไว้รับประทาน ผลผลิตก็เพิ่มขึ้น ทำให้มีเหลือเพื่อจำหน่าย

            หลังจากทดลองทำเกษตรตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจของครอบครัวตัวเองอยู่หลายปี มาประสบความสำเร็จจริง ๆ เมื่อปี 2547 ( เป็นผู้ใหญ่บ้านวาระแรกเมื่อปี 2545 ) นั่นคือได้รวมกลุ่มชาวบ้านให้หันมายึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมา ส่งผลให้หมู่บ้านดอนม่วงเป็นหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงของจังหวัดพิษณุโลกในปี 2549 ได้รับรางวัลผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยมเมื่อปี 2547 และนางอุบล  ใจโอด ได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นสาขาบัญชีฟาร์ม  เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในวันพืชมงคล ณ พลับพลาที่ประทับมณฑลพิธีสนามหลวง 13 พ.ค. 2554 และได้รับรางวัลแทนคุณแผ่นดินประจำปี 2554  ที่เครือเนชั่นกรุ๊ปจัดขึ้นเชิดชูบุคคลที่ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม 76 จว.ทั่วประเทศ

ที่มาที่ไปในการบริหารจัดการบ้านดอนม่วงนั้น นางอุบล ใจโอด  เล่าว่า แต่ก่อนชาวบ้านทำนากันอย่างเดียวเหมือนกับในหลายพื้นที่ หากปีไหนฝนแล้งหรือเกิดน้ำท่วมปีนั้นชาวบ้านก็ขาดรายได้ ต้องรอปีหน้าที่จะได้กลับมาทำนากันอีกครั้ง จึงคิดว่าทำอย่างไรถึงจะให้ชาวบ้านได้ทำงาน มีรายได้ตลอดทั้งปีไม่ต้องรอทำนาเพียงอย่างเดียว จึงประชุมร่วมกับชาวบ้าน โดยพื้นที่นาหลังจากทำนาเสร็จ เจ้าของนาจะปลูกผักกระเฉดปลอดสารพิษ และจ้างผู้ด้อยโอกาสในหมู่บ้าน อาทิ ผู้สูงอายุ เด็ก มาเก็บผักไปขาย เด็กก็จะได้ค่าขนมไปโรงเรียน ส่วนผู้สูงอายุจะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า สามารถสร้างรายได้พอเลี้ยงตัวเองได้ ไม่รู้สึกว่าเป็นภาระของสังคม

ส่วนการพัฒนาอนุรักษ์แหล่งน้ำสาธารณะนั้น ผู้ใหญ่อุบลบอกว่า บ่อ บึง และแหล่งน้ำในหมู่บ้านจะนำพันธุ์ปลามาปล่อย โดยกำหนดกติการ่วมกับชาวบ้าน ให้ชาวบ้านจับปลาได้ปีละครั้งและเก็บค่าจับปลาคนละ 100 บาท หากใครฝ่าฝืนจะถูกปรับ รายได้ทั้งหมดจะนำเข้ากองทุนเพื่อให้ใช้พัฒนาหมู่บ้านต่อไป ส่วนผู้หญิงหลังจากเสร็จจากการทำงานก็จะมาตั้งกลุ่มทำน้ำพริกแกง โดยใช้วัตถุดิบที่ปลูกภายในหมู่บ้าน และจ้างผู้สูงอายุ เด็กๆ เด็ดขั้วพริก กระจายให้ทุกคนมีรายได้

การทำงานทุกอย่างจะเน้นให้ทุกคนมีส่วนร่วมทั้งผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ และเยาวชน ได้แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อย่างในครอบครัวของฉัน ฉันและสามีจะเป็นแบบอย่างในการทำงานแบบพอเพียงให้กับลูก ลูกจะได้ซึมซับและเรียนรู้การทำงานแบบพอเพียงเมื่อพวกเขาโตขึ้น เวลาประชุมกับลูกบ้านจะย้ำเสมอว่า ทำงานทุกอย่างต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อน แล้วค่อยขยายให้เติบโตขึ้นเมื่อมีความพร้อม ทำทุกอย่างต้องพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นสังคมไม่ทอดทิ้งกัน ผู้ใหญ่อุบลเผยความรู้สึกอย่างภูมิใจ

กิจกรรมของชาวบ้านดอนม่วงภายใต้การนำของผู้ใหญ่อบุล มีมากหมาย ทั้ง การเพาะเชื้อรา เพื่อทำสารไล่แมลงในนาข้าวและพืช จากกรมพัฒนาที่ดิน หลังจากที่ได้รับการอบรมได้ขยายผล โดยแนะนำต่อไปยังสมาชิกต่อไป เมื่อนำเชื้อราบิวเวอร์เรียไปใช้สามารถป้องกันแมลงทำลายต้นข้าว ได้ ไม่เป็นพิษสะสมในพืช

การทำถ่านไร้ทาร์ ได้รับการแนะนำจากวิทยาลัยสาธารณสุขสิรินธรให้ผลิตถ่านไร้ทาร์และน้ำส้มควันไม้ ซึ่งสามารถนำมาเป็นสารไล่แมลงปลอดภัยต่อผู้ใช้และไม่ทำลายธรรมชาติชาวดอนม่วงปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานในครัวเรือน เมื่อปริมาณมากขึ้นจึงนำส่วนที่เหลือไปจำหน่ายให้กลุ่มทำน้ำพริกแกง โดยได้สนันสนุนเงินทุนหมุนเวียน 27,000 บาท จากสำนักงานเกษตรอำเภอวังทอง

กลุ่มเลี้ยงวัวของบ้านดอนม่วงมีสมาชิก 30 คน เงินทุนหมุนเวียน 90,000 บาท มีวัวทั้งสิ้น 200 ตัว โดยสมาชิกยืมเงินทุนหมุนเวียนไปลงทุน สำหรับสมาชิกที่มีรายได้น้อยไม่พร้อมจะลงทุนก็รับจ้างกลุ่มเลี้ยงซึ่งทางกลุ่มจะแบ่งผลกำไรให้ร้อยล่ะ 30 เป็นอาชีพหนึ่งที่ทำรายได้ให้กับชาวดอนม่วงช่วงที่ไม่ได้ทำนาชา วดอนม่วงก็มีรายได้จากการขายผักกะเฉดทุกวัน สำหรับครัวเรือนที่ไม่ได้ปลูกผักกะเฉด ก็มารับจ้างเก็บผักกะเฉด โดยเก็บวันล่ะ 2 ครั้ง คือเช้าประมาณ 06.00น. และบ่ายประมาณ 12.00 น.ในแต่ละวันที่รับจ้างมีรายได้ประมาณ 100-120 บาท การจำหน่ายจะมีตัวแทนในหมู่บ้านมารับผักไปส่งที่ตลาด นี่คือเครือข่ายการทำงานในหมู่บ้านที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติแล้วยังเป็นการกระจายรายได้ให้กับผู้ว่างงานกลุ่มปลูกผักกะเฉด

ชาวดอนม่วง เป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต 46 คน มีเงินสัจจะสะสม 48,600 บาท โดยส่งสัจจะทุกวันที่ 5 ของทุกเดือน จะส่งคนละไม่น้อยกว่า 30 บาทต่อเดือน คือเฉลี่ยมีการออมเงินวันละ 1 บาทชาวบ้านดอนม่วงจะจัดกิจกรรมทำบุญกลางบ้านทุกวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 โดยแต่ละบ้านจะมีส่วนร่วมโดยนำอาหารมารวมกันถวายพระ นอกจากนี้ยังแสดงถึงความรัก ความสามัคคี เสียสละของคนในหมู่บ้านมีการประชุมชาวดอนม่วงทุกวันที่ 10 ของทุกเดือน เวลา 17.00 น. ไม่มีการบังคับให้ชาวบ้านมาประชุม แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่สมัครใจ เนื่องจากอยากได้รับความรู้หรือข้อมูลใหม่ๆ ทุกเดือนจะมีเจ้าหน้าที่จากส่วนราชการเข้ามาร่วมประชุม และให้ความรู้เพิ่มเติมด้วย แผนชุมชนที่ร่วมกันทำ มีการจัดลำดับความสำคัญของปัญหา ปัญหาใดแก้ไขด้วยตัวเอง ปัญหาใดต้องร่วมกันแก้ไขในหมู่บ้าน ปัญหาใดต้องใช้งบประมาณก็ขอรับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วน ตำบลวังทอง
นางอุบล ใจโอด อยู่เลขที่   59  ม.10  ต.วังทอง  อ.วังทอง  จ.พิษณุโลก  65130 โทรศัพท์ 089-7088711

…………………………………………..

แสดงความคิดเห็น