วันที่ 19 พฤศจิกายน 2554 หลายพื้นที่ในอ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ระดับน้ำที่เคยท่วมขังตั้งแต่เดือนกรกฏาคม 2554 เริ่มระบายลงสู่แม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน จนสภาพพื้นที่น้ำท่วมเกือบทั้งหมดกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว และทุกตำบลในอำเภอบางระกำ จะพบเห็นชาวนาเร่งปรับสภาพพื้นที่นาของตนเอง ไถและหว่านข้าวนาปรังรอบแรก เพื่อให้เก็บเกี่ยวได้เร็วที่สุดในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2555 โดยต่างคาดหวังว่า จะสามารถทำนาปรังรอบที่สอง ( เมษายน-กรกฏาคม 2555 ) ก่อนที่น้ำจะกลับมาท่วมในพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง
ชาวนาบ้านท่าโก ม.3 ต.บางระกำ เปิดเผยว่า ปีนี้น้ำท่วมสูงและขังในพื้นที่นานมากร่วม 4 เดือน ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมาระดับน้ำได้เริ่มลดลงไปมาก ชาวนาต้องรีบทำนาปรังรอบแรกให้เร็วที่สุด เพื่อชดเชยนาข้าวที่สูญเสียจากน้ำท่วมในปีนี้ และต้องเสี่ยงกับภัยหนาว ที่มักเกิดโรคจู๋ ข้าวไม่ค่อยออกรวง แต่ก็ไม่มีทางเลือก ขณะที่นาปรังรอบที่สองนั้น ก็ต้องเสี่ยงกับภัยแล้ง คาดว่าปีหน้า คงต้องใช้น้ำจากบ่อบาดาลในการทำนา
พื้นที่อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำยม ที่มักประสบปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งซ้ำซากเป็นประจำทุกปี ในช่วงฤดูฝน น้ำจากแม่น้ำยมจะล้นตลิ่งและไหลท่วมทุ่งเป็นบริเวณกว้าง และท่วมขังนาน3-4 เดือนระหว่างเดือนกรกฏาคม-ตุลาคมของทุกปี จากนั้น เมื่อน้ำในพื้นที่ลดลงหมดแล้ว ชาวนาก็จะเริ่มทำนากันสองรอบ แต่ก็มักประสบปัญหาภัยแล้ง น้ำในแม่น้ำยมแห้งขอด เนื่องจากไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ ปี 2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จัดให้อ.บางระกำ จ.โลก เป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งในชื่อบางระกำโมเดล ขณะที่ชาวนาในพื้นที่อ.บางระกำส่วนใหญ่ไม่ค่อยห่วงเรื่องปัญหาน้ำท่วมเท่าไหร่ เนื่องจากคุ้นเคยกับน้ำท่วมทุ่งทุกปี เพียงแต่คาดหวังว่า อยากให้มีการจัดการน้ำที่มาท่วมในเวลาที่สมควร สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทัน และปัญหาเรื่องขาดน้ำทำนา กลับเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในพื้นที่อ.บางระกำ