รถไฟเร็วสูงจะเห็นรูปธรรมในอีก3เดือน

วันที่  27 เมษายน 2555  ที่อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลกนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเดินทางมาเป็นประธานสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทิศทางการคมนาคมไทยจะเป็นอย่างไรเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”จัดโดยวิทยาลัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน
มหาวิทยาลัยนเรศวรและกรรมการขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยทั้งยังมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการคมนาคมสี่แยกอินโดจีนพัฒนาระบบการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ ตามโครงข่ายการขนส่งทางถนน ทางรางทางน้ำ และทางอากาศ เชื่อมภูมิภาคของประเทศ รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) โดยมีศ.ดร.สุจินต์ จินายน อธิการบดี ม .นเรศวร กลุ่มหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก นักธุรกิจภาคการขนส่งส.ส.นิยม ช่างพินิจผู้แทนราษฎรจ.พิษณุโลกและผู้บริหารกรมทางหลวงให้การตอนรับ
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทางการคมนาคมไทยจะเป็นอย่างไรเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ตอนหนึ่งว่าพื้นฐานโลจิสติกส์ในภูมิภาคนี้ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโดยธรรมชาติหากมองแนวตะวันตก ตะวันออก จังหวัดพิษณุโลกก็เป็นศูนย์กลาง
ตนไปพม่ากับนายกรัฐมนตรีที่สหภาพพม่าเมื่อ 2 เดือนก่อน ล่าสุดไม่นานมานี้รัฐมนตรีของรัฐบาลพม่าเดินทางมาติดตามเพื่อพัฒนาเส้นทางบกกับประเทศไทยเน้นไปถนนสู่ทะเลฝั่งอันดามัน เบื้องต้นแบ่งออกเป็นเส้นทางหลัก คือแม่สอด-เมียวดี-เมาะละแม่ง(ท่าเทียบเรือ) ซึ่งเส้นหลักนี้พิษณุโลกได้เปรียบความเป็นศูนย์กลาง

เพราะหากย้อนไปอดีตเมื่อ 700 ปีสมัยพ่อขุนราม จ.สุโขทัยก็เป็นเมืองแลกเปลี่ยนสินค้า ใครใคร่ ค้าค้า
แต่วันนี้ต้องยอมรับศูนย์กลางการค้าที่จังหวัดพิษณุโลกแทน เส้นทางรองลงมาคือ ด่านเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี เพราะเมื่อย้อนไปอดีตจักรพรรดิญี่ปุ่นก็เล็งการตัดเชื่อมถนนระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทย
ครั้งนี้เคยเกณฑ์คนไปทำถนนจังหวัดกาญจนบุรี แต่สงครามเลิกเสียก่อนแต่เชื่อว่า ยุทธศาสตร์เส้นทางด่านเจดีย์สามองค์นั้นสำคัญเพราะเชื่อมเมืองหลักทั้ง 3 ประเทศ ส่วนเส้นทางที่เหลืออีกก็เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างพม่ากับไทย ถัดลงมาจากด่านเจดีย์สามองค์เป็นการตัดเส้นทางเชื่อม 2 ทะเล ของประเทศไทยและพม่า

 

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม กล่าวอีกว่าตนและนายกรัฐมนตรีก็ยังเดินทางไปประเทศจีนเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมาทราบว่า ประเทศจีน มีเส้นทางรถไฟทั้งหมด 25-26 เส้นทาง ระยะหมื่นกิโลเมตร
และยังมีแผนตัดเส้นทางรถไฟความเร็วสูงต่อถึงทิเบต บอกได้เลยว่าจีนพัฒนาระบบรางความเร็วสูงไวมาก อเมริกาพัฒนาไม่ทัน ถามว่าถ้าประเทศไทยไม่ทำระบบราง แล้วจะเป็นศูนย์กลางประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ได้อย่างไร อย่าลืมว่า สปป.ลาวไปเซ็นต์ความร่วมกับกับประเทศจีนกรณีรถไฟความเร็วสูงเมื่อ 2 ปีก่อนแต่ประเทศไทยเพิ่งไปเซ็นความร่วมมือไทย-จีน เมื่อเร็วๆนี้ถ้าประเทศไทยสามารถริเริ่มรถไฟความเร็วสูงได้ก่อน ก็จะถือว่าเป็นประเทศแรกในอาเชียน

เส้นทางรถไฟความเร็วสูง แห่งแรกคือ กรุงเทพ-พิษณุโลกพัฒนาต่อขึ้นเหนือไปเชียงใหม่ และเส้นทางกรุงเทพ-โคราชพัฒนาต่อไปยังหนองคายการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ(MOU)ผลักดันให้โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เมื่อวันที่ 17 เมษายน2555 ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ระบุ ไว้ว่า ภายใน 1 เดือนทั้ง 2ประเทศ จะแต่งตั้งรัฐมนตรีทั้งสองประเทศมา 1 คนเพื่อเจรจา ในระยะ 3 เดือน โครงร่างของไฮสปีดเทรนจะต้องเป็นรูปธรรมจากนั้นทั้งสองประเทศจะมาทำเรื่องการออกแบบในส่วนประเทศไทย จะต้องตั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเพื่อผ่าน พรบ มาตรา61(2) และพรบ.ชุมชน เนื่องจากโครงการดังกล่าวเกิน พันล้านบาทขึ้นไป จากนั้นค่อยมาทำแนวเวนคืนที่ดิน คาดว่าจะเริ่มได้ในปี 56 ดังนั้นในปี 2555 จะเร่งรัดรถไฟสายสีแดง ปรับปรุงสถานีรถไฟบางซื่อให้ทันสมัยวงเงิน 2พันล้านบาท

 

สำหรับการพัฒนาถนนโครงข่ายการขนส่งทางถนนก็เตรียมพัฒนาถนนรอบเมืองพิษณุโลก 4 ทิศทางและล่าสุดได้อนุมัติงบก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองด้านตอนใต้ส่วนเส้นทางบก เมื่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง ที่เชียงของสำเร็จก็จะเป็นเส้นทางขนถ่ายสินค้าจากจีนลงมาตอนล่างผ่านจังหวัดเชียงรายและผ่านพิษณุโลก
นอกจากนี้ยังมีพัฒนาท่าเรือเชียงแสน รองรับคมนาคมทางน้ำ อีก 1 เส้นทาง

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม ให้สำภาษณ์แก่สื่อมวลชนอีกว่า โครงการไฮสปีดเทรนเป็นโครงการขนาดใหญ่มูลค่า 4 แสนล้านบาทกรณีที่นายกรัฐมนตรีไปเซ็นต์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีนแล้วต้องดำเนินต่อ ผ่านครม.อีกหลายรอบ จะแบ่งเป็น  4 สายใหม่สายเหนือจากกรุงเทพฯถึงพิษณุโลก- พัฒนาต่อไปยังจังหวัดเชียงใหม่สายตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพ ถึงนครราชสีมา พัฒนาต่อไปจังหวัดหนองคายและสายใต้ กรุงเทพ หัวหิน และเส้นทางกรุงเทพ-แอร์พอร์ตลิงก์-สุวรรณภูมิซึ่งใช้รถไฟความเร็วเพียง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

แต่หากเป็นเส้นทางไปพิษณุโลก, โคราช และหัวหิน รถไฟจะใช้ความเร็วถึง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ส่วนคำถามที่ว่า จะเลือกเส้นทางใดก่อน ระหว่างพิษณุโลก หรือ โคราชรัฐมนตรีคมนาคมบอกว่า  ไม่ต้องแย่งกัน จะสร้างพร้อมๆกัน ในระยะอีก 3-6เดือนข้างหน้าจะเห็นแบบ และกรอบงบประมาณ ผู้ก่อสร้าง ระเบียบต่างๆเพราะต้องมีฝ่ายเทคนิค, วิศวกรออกแบบ, การลงทุน การเงิน, การเดินรถและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริเวณเส้นทางรถไฟเนื่องจากมูลค่าก่อสร้างไฮสปีดเทรนสูงถึง 4 แสนล้านบาทจะต้องมีการพัฒนาที่ดิน ที่พัก ควบคู่ไปด้วยถึงจะพอคุ้มค่ากับการลงทุนแถมยังต้องมีการเรียกเก็บภาษีต่างๆจากประชาชนอีกด้วย

ส่วนคำถามที่ว่า แนวทางพัฒนาโครงข่ายถนนสี่แยกอินโดจีนจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น รัฐมนตรีคมนาคมบอกว่า ถนนเชื่อมตามสี่แยกอินโดจีนขยายเป็น  4 เลนไม่ครบ ทำได้ยังไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแนวทางขยายถนนจะไม่ขยายถนนเป็น 4 เลนตลอดทั้งสาย แต่จะขยายถนนเป็น 4เลนเฉพาะที่ผ่านชุมชนเมืองเท่านั้น จากนั้นถนน  4 เลนเชื่อมต่อครบไปเองเพราะงบประมาณก่อสร้างถนนสูงมาก

 

ส.ส.นิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก เปิดเผยว่าคนจังหวัดพิษณุโลกมีรายได้ต่อหัว 68,000 บาทต่อปี
จะทำอย่างไรให้คนพิษณุโลกมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเทียบกับจังหวัดชลบุรีหรือภูเก็ตที่มีรายได้ต่อหัวสูงถึง 100,000 บาทต่อปีวันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลพัฒนาเส้นทางหลักทำให้พิษณุโลกเป็นเมืองศูนย์กลางจริงๆ

ล่าสุดอธิบดีกรมทางหลวงได้อนุมัติขยายถนน 4 เลน เลี่ยงเมืองด้านตอนใต้จากเดิม 2 เลน ผลให้ถนนจากกรุงเทพสู่เชียงราย จะเป็น 4 เลนเกือบทั้งหมดที่ผ่านมากรมทางหลวงก็ได้ผ่านงบประมาณ 3 พันล้านบาทปรับขยายเส้นทางถนน 4เลน พิษณุโลก-หล่มสัก หรือถนนสาย 12 ไปเรียบร้อยระยะประมาณ 100 กิโลเมตรส่วนเส้นรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ถือเป็นวาระแห่งชาติคาดว่า ปี 2556 จะได้รับการประกวดราคา ก่อสร้างสายกรุงเทพ พิษณุโลก(ตอนแรก) งบประมาณ 101,214 ล้านบาท ผลให้เมืองพิษณุโลก เกิดการจ้างงานบริษัทข้ามชาติจะย้ายมาอยู่ที่นี่ เกิดการค้าการลงทุน การจ้างเงินเพิ่มรายได้ต่อหัวแก่คนพิษณุโลก เพราะใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพ-พิษณุโลกระยะทาง 382 กิโลเมตร ใช้เวลาแค่ 1 ชั่วโมงเศษๆเท่านั้น

อนึ่งตามรายงานของ ปาฐกถาพิเศษ”ทิศทางการคมนาคมไทยจะเป็นอย่างไรเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจ อาเซียน ของรัฐมนตรีคมนาคมระบุถึงการพัฒนาการขนส่งทางรางรถไฟความเร็วสูงระยะทางร่วมกว่า 1,400 เมตรของรัฐบาลใน 3 เส้นหลัก คือ กรุงเทพ-เชียงใหม่ 725 กิโลเมตร, กรุงเทพ -นครราชสีมา 256 กิโลเมตร, กรุงเทพ-หัวหิน 225 กิโลเมตรและการต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ไปพัทยา โดยในปี 2555
กระทรวงคมนาคม(สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)ได้รับงบประมาณในการศึกษา ออกแบบ สำรวจเส้นทางรถไฟความเร็วสูงช่วงแรกคือ กรุงเทพ-พิษณุโลก ระยะทาง 382 กิโลเมตร
งบประมาณก่อสร้าง 101,214 ล้านบาท คาดว่า ปี 2556จะสามารถดำเนินการประกวดราคาได้ และดำเนินการแล้วเสร็จปี 2560

 

ส่วนเส้นทางต่อไป จุดหมายปลายทาง จากพิษณุโลก-เชียงใหม่จะได้รับงบประมาณปี 2556
ซึ่งจะกำหนดก่อสร้างเปิดให้บริการแล้วเสร็จตามพิษณุโลกไปอีก 1 ปี ดังนั้นจังหวัดพิษณุโลก ถือว่า ได้เปรียบ มีรถไฟความเร็วสูงใช้งานก่อนใครสำหรับการพัฒนารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-นครราชสีมา กรุงเทพ- หัวหินและแอร์พอร์ตลิงก์ จะมีกำหนดดำเนินการเดียวกับ กรุงเทพ-พิษณุโลก
ซึ่งทั้งหมดแล้ว รัฐบาลจะต้องใช้เงินงบประมาณ 500,000 ล้านบาท แต่ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพราะ หากวันหนึ่งราคาน้ำมันขึ้นไปถึง 200เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ไทยจะสูญเสียโอกาสในการแข่งขันในเวทีระดับโลก
ส่วนการพัฒนาศักยภาพเส้นทางหลวงแผ่นดินและเส้นทางหลวงอาเซียนกระทรวงคมนาคมเร่งรัดขยายทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจรในแนวระเบียงเศรษฐกิจEast-west Economic corridor ให้แล้วเสร็จ ระยะทาง 780 กิโลเมตร ในปี2560 จากปัจจุบันแล้วเสร็จ 233 กิโลเมตร (ตาก-สุโขทัย-พิษณุโลก
และชุมแพ-ขอนแก่น-กาฬสินธุ์) ในช่วงที่ยังไม่แล้วเสร็จ 222 กิโลเมตร คือพิษณุโลก – หล่มสัก ระยะ 167 กิโลเมตร และอำเภอหนองเรือคอนสาร ตอนที่ 2ระยะทางประมาณ 26 กิโลเมตร สำหรับช่วงที่เหลือ คือ
ช่วงจากหล่มสักถึงอำเภอคอนสารระยะทาง 92 กิโลเมตรซึ่งจะต้องใช้เงินงบประมาณ 5,170 ล้านบาท อยู่ในแผ่นดำเนินการระหว่างปี2555-2559

แสดงความคิดเห็น