รักษ์ลำน้ำเข็ก ชมรมเล็ก ๆ หัวใจโต ๆ

ลำน้ำเข็ก หรือ แม่น้ำวังทอง มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ สายน้ำยาวที่ไหลผ่านจ.เพชรบูรณ์ และจ.พิษณุโลก ได้หล่อเลี้ยงผู้คนในลุ่มน้ำเข็กมานาน ธรรมชาติได้สร้างสรรค์ความสวยงาม ก่อเกิดน้ำตกที่ขึ้นชื่อของจังหวัดพิษณุโลกหลากหลาย น้ำตกแก่งโสภา น้ำตกปอย น้ำตกแก่งซอง น้ำตกวังนกแอ่น

ลำน้ำเข็ก เปรียบเสมือนแม่ ที่หล่อเลี้ยงผู้คนที่อาศัยอยู่ตลอดลำน้ำ ทั้งประชาชน นักธุรกิจ พ่อค้าแม่ค้า ได้อาศัยลำน้ำเข็กเป็นที่ทำมาหากิน ค้าขายอาหาร ของที่ระลึก รีสอร์ทหรู อดีตที่ผ่านมา ลูกที่อาศัยแม่ผู้เป็นลำน้ำ ต่างกอบโกยแต่สิ่งที่ตนเองอยากได้ ใช้ทรัพยากรของลำน้ำเข็กเป็นจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยละเลยเพิกเฉย กับธรรมชาติที่ถูกทำลายด้วยสิ่งละอันพันละน้อย  ขยะ เศษแก้ว เศษอาหาร ถูกทิ้งลงในลำน้ำ แหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อพิษณุโลกเริ่มแปดเปื้อนด้วยเศษขยะ และถ้าปล่อยเนิ่นนานไป แหล่งหากินตลอดลำน้ำเข็ก ก็จะกลายสภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวเมิน

 

แต่ขณะนี้ มีกลุ่มชาวบ้าน นักเรียน นักธุรกิจ ผู้ที่มองเห็นปัญหา อยากเห็นสภาพแวดล้อมแหล่งท่องเที่ยวให้คงอยู่โดยสะอาดสวยงาม ได้ร่วมกันจัดตั้งชมรมรักษ์ลำน้ำเข็กขึ้นมา ทำกิจกรรมหลากหลาย เป้าหมายปลุกจิตสำนึกของชุมชน ให้ร่วมปกป้องรักษาธรรมชาติให้คงอยู่ในสภาพแวดล้อมคงเดิม รักษาความสะอาด สร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้กับแหล่งท่องเที่ยว

 

นายณัฐวัฒน์ วัฒนาประสิทธิ์ หรือคุณเล็ก ประธานชมรมรักษ์ลำน้ำเข็ก ผู้เป็นแกนนำชาวบ้าน ต.แก่งโสภา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก และนักเรียนโรงเรียนป่าอุทิศ 6 ต.แก่งโสภา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เก็บขยะและทำความสะอาดบริเวณน้ำตกแก่งซอง เพื่อปรับทัศนียภาพของน้ำตกให้ดูสะอาดตาและน่าเที่ยวชม มาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว และทุกวันนี้ ก็ยังคงสานต่อกิจกรรมเรื่อยมาทุกเดือน

            คุณเล็กเล่าให้ฟังว่าก่อนที่ตนเองจะมาซื้อที่ดินอยู่ที่ ต.แก่งโสภา ธรรมชาติที่นี่สวยงามมาก มีทั้งป่าเขาลำเนาภัย ลำธารที่ใสสะอาด สัตว์ป่าที่อุดมสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันธรรมชาติได้ถูกทำลายด้วยน้ำมือมนุษย์ ทุกครั้งที่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมธรรมชาติที่น้ำตกแก่งซองนี้ จะต้องทิ้งร่องรอยของความสกปรกไว้ให้ดูต่างหน้าทุกครั้งไป ไม่ว่าจะเป็นเศษขยะที่เป็นพลาสติก หรือเศษแก้วที่นอนอยู่ใต้ผิวน้ำตามโขดหิน ด้วยเหตุดังกล่าวตนเองและชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจึงลุกขึ้นสู่เพื่อจะช่วยพิทักษ์สิ่งแวดล้อมให้กลับคงสภาพเดิม

แต่ก็ต้องสู่กันเหนื่อยหน่อยเพราะว่าธรรมชาติของที่นี่ได้เปลี่ยนไปมาก ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า หรือสถานที่จอดรถก็ดีที่ไม่มีระเบียบแน่ชัดว่าจะให้บริการนักท่องเที่ยวได้ขนาดไหน เวลาผ่านไปหนึ่งปีเต็มที่คุณเล็กและชาวบ้านกลุ่มน้อยได้พยายามสร้างความเชื่อมั่นในความรักษ์โลก รักษ์ธรรมชาติกับพี่น้องชาว ต.แก่งโสภา แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือความเหนื่อยใจ คนเห็นค่าของธรรมชาติน้อยลง คนรักษ์โลกน้อยมาก มีแต่ความเห็นแก่ตัว เลือกที่จะหารายได้จากธรรมชาติให้มากที่สุด จนทุกวันนี้บริเวณโดยรอบน้ำตกแก่งโสภา กลายเป็นย่านธุรกิจ จนแทบไม่เหลือความเป็นธรรมชาติให้นักท่องเที่ยวได้เก็บภาพสวยๆกลับบ้านกันแล้ว

ชมรมรักษ์ลำน้ำเข็ก เกิดขึ้นมานานกว่า 5 ปีแล้ว มีคณะกรรมการทั้งสิ้น 10 คน มีสมาชิกร่วมกิจกรรม จำนวน 300 คน โดยมีคุณเล็ก เป็นประธานชมรม ในทุกๆเดือน คุณเล็กบอกว่า ตนเองและชาวบ้าน รวมถึงนักเรียนในละแวกใกล้เคียงจะรวมตัวกันเก็บขยะและทำความสะอาดบริเวณน้ำตกแก่งซอง อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ก่อนหน้านี้เคยคุยกับชาวบ้านที่หากินในบริเวณดังกล่าวให้ช่วยกันรักษาธรรมชาติ ด้วยการไม่เหลื่อมล้ำเข้าไปในเขตลำน้ำให้มากเกินไป แต่ก็ถูกปฏิเสธ เพราะการปุกรุกล้ำเข้าไปในธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวหลายคนปรารถนา ด้วยเหตุนี้เองทางชมรมและชาวบ้านที่รวมตัวกันพิทักษ์สิ่งแวดล้อมจึงอยากให้ทางหน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวเข้ามาจัดการบริหารอย่างเป็นระบบเพื่อให้ธรรมชาติคงอยู่กับน้ำตกแก่งซองตลอดไป

            สำหรับกิจกรรมของชมรมรักษ์ลำน้ำเข็ก ที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากสร้างจิตสำนึกให้สมาชิกชมรมและเด็กนักเรียนร่วมเก็บขยะที่น้ำตกแก่งซองแล้ว ชมรมฯ ยังได้ส่งเสริมการตั้งธนาคารขยะในโรงเรียนต่าง ๆในเขตอ.วังทอง ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 12 โรงเรียน มีกิจกรรมนำสมาชิกไปดูงานรักษาสิ่งแวดล้อมกับชมรมเครือข่ายทั่วประเทศ จัดกิจกรรมล่องแก่งเก็บขยะในช่วงเดือนกรกฏาคมของทุกปี

            ด้านนางตลับ หมวกแก้ว ชาวบ้านแก่งโสภา หมู่ 9 กล่าวว่า น้ำตกแก่งโสภา มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมธรรมชาติตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลจะมีนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดมาเที่ยวเยอะมาก เศษขยะจึงเยอะตามไปด้วย บางคน บางกลุ่มมาดื่มกินอาหารกันแล้วโยนขวดลงน้ำ ก็จะส่งผลให้มีเศษแก้วบาดเท้าคนที่ลงไปเล่นน้ำ ดังนั้นเมื่อนักท่องเที่ยวทราบเรื่องนี้เข้าจึงทำให้เกิดความหวาดกลัวไม่กล้ามาเที่ยวที่น้ำตกแห่งนี้ ร้านค้าที่อยู่บริเวณดังกล่าวจึงต้องการวิธีการดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยการปลูกสิ่งก่อสร้างแบบชั่วคราวล้ำเข้าไปในลำน้ำเข็ก และทำให้เกิดความขัดแย้งกับชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งหวงแหนในธรรมชาติ ดังนั้นจึงอยากให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาดูแลในเรื่องการจัดระเบียบร้านค้า สถานที่จอดรถ และร้านค้าชุมชน    

ตลอดระเวลา 5 ปี ที่ร่วมกันเดินงานชมรมรักษ์ลำน้ำเข็ก แม้ว่าจะยังไม่บรรลุเป้าหมาย แต่สิ่งที่ชมรมรักษ์ลำน้ำเข็กได้สานต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง เป็นบทพิสูจน์ให้สังคมรู้เห็นแล้วว่า ถ้าเดินหน้าด้วยความร่วมมือร่วมใจกัน เป้าหมายใหญ่ที่วางไว้ จะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก และถึงวันนั้น ลำน้ำเข็ก ก็จะยังคงสภาพธรรมชาติที่งดงาม เป็นแหล่งน้ำ แหล่งท่องเที่ยวของพิษณุโลก ให้คนรุ่นหลังได้พึ่งพิงอาศัยกันต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

เกษร  รอดเศษ ทีที เคเบิลพิษณุโลก / รายงาน 

แสดงความคิดเห็น