ปศุสัตว์จับมือสถานพยาบาลสัตว์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

นายราชันย์ ภุมมะภูติ ปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ตามที่กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันจัดทำโครงการรณรงค์วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและลดความเสี่ยงจากการถูกสุนัขกัด ในระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายนอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ทำให้สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงได้เป็นลำดับ จากข้อมูลทั้งประเทศในปี 2538 ที่มีผู้เสียชีวิต จำนวน 74 ราย ในปี 2554 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 8 ราย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 1 ราย ปทุมธานี 1 ราย ระยอง 1 ราย สมุทรปราการ 1 ราย อยุธยา 1 ราย ศรีสะเกษ 1 ราย อุบลราชธานี 1 ราย และพัทลุง 1 ราย ในปี 2555 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 5 ราย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 1 ราย กาญจนบุรี 1 ราย นครศรีธรรมราช 1 ราย ระยอง 1 ราย และสงขลา 1 ราย สำหรับจังหวัดพิษณุโลกตั้งแต่ปี 2540 – 2544 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 4 ราย และในปี 2545 – 2555 เป็นเวลา 11 ปีแล้วที่ไม่ปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ แต่โรคพิษสุนัขบ้ายังคงถูกจัดให้เป็นโรคสำคัญของประเทศไทยเนื่องจากยังมีผู้เสียชีวิตทุกๆปี และสถิติจำนวนผู้สัมผัสเชื้อที่มารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทั่วประเทศก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้นการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าพร้อมกันทั่วประเทศ จึงเป็นกิจกรรมที่สำคัญยิ่งในการกระตุ้นให้ประชาชนนำสุนัขและแมวที่มีอยู่ในความดูแลไปรับการฉีดวัคซีนให้ได้มาที่สุด เพื่อให้สุนัขและแมวมีภูมิต้านทานต่อโรคพิษสุนัขบ้าซึ่งมีผลทำให้ลดอัตราการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเลี้ยงสุนัขให้ถูกวิธี เป็นการลดความเสี่ยงของประชาชนจากการถูกสุนัขที่สงสัยหรือป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัดและป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้อีกต่อไป

สำหรับในปี 2556 นี้จังหวัดพิษณุโลก โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดได้จัดทำโครงการสถานพยาบาลร่วมใจป้องกันภัยโรคพิษสุนัขบ้า และควบคุมจำนวนประชากรสุนัขและแมวของจังหวัดพิษณุโลก ด้วยเช่นกันโดยได้ดำเนินการในช่วงระหว่างวันที่ 1 – 31 มีนาคม 2556 โดยมีสถานพยาบาลสัตว์ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกเข้าร่วมโครงการฯในครั้งนี้ จำนวน 20 แห่ง ทั้งนี้เพื่อสร้างความตื่นตัวและกระตุ้นเตือนให้ประชาชนชาวจังหวัดพิษณุโลกได้มีส่วนร่วม และเห็นความสำคัญในการนำสุนัขและแมวในความดูแลไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและคุมกำเนิดให้มากที่สุด

ดังนั้นเพื่อให้สุนัขและแมวมีระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งจะส่งผลช่วยลดอัตราการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์และลดความเสี่ยงของประชาชนจากโรคพิษสุนัขบ้า รวมทั้งช่วยควบคุมจำนวนประชากรสุนัขและแมวในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกให้เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลกจึงขอเชิญชวนประชาชนที่เป็นเจ้าของสุนัขและแมว นำสุนัขและแมวมาฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและคุมกำเนิดได้ตามสถานพยาบาลสัตว์ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกที่เข้าร่วมโครงการฯในครั้งนี้ทั้ง 20 แห่ง โดยเสียค่าบริการในราคาพิเศษ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่กลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก ถนนสนามบิน อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โทรศัพท์หมายเลข 055 – 258654 ในวันและเวลาราชการ

 

แสดงความคิดเห็น