นายธาดา ศรัทธา ผอ.สถานีอุตุนิยมวิทยาจ.พิษณุโลก แจ้งว่า กรมอุตุนิยมวิทยาโดยนายวันชัย ศักดิ์อุดมชัย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศเรื่องสภาพอากาศและสภาวะฝนในช่วงฤดูฝนของประเทศไทยพ.ศ.2558 ระบุว่า ตามที่ฤดูฝนของประเทศไทยในปีนี้ได้เริ่มขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 เป็นต้นมา แต่เนื่องจากตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมประเทศไทยมีการกระจายของฝนไม่สม่ำเสมอในหลายพื้นที่ ทำให้ปริมาณฝนเดือนพฤษภาคมต่ำกว่าค่าปกติเกือบทั่วไป โดยเฉลี่ยทั้งประเทศต่ำกว่าค่าปกติถึง 46 %
ในเดือนมิถุนายน2558 ถึงแม้ประเทศไทยจะมีฝนตกมากขึ้น โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครฯและปริมณฑลรวมถึงบางพื้นที่ในภาคตะวันออก แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศมีปริมาณฝนน้อย และการกระจายของฝนยังไม่สม่ำเสมอ ส่งผลให้หลายพื้นที่โดยเฉพาะประเทศไทยตอนบน มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับพื้นที่เกษตร และจนถึงปัจจุบัน ( 28 มิถุนายน 2558 ) ปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งประเทศยังคงต่ำกว่าปกติ 19 % โดยในภาคเหนือต่ำกว่าค่าปกติ 40 % ภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่ำกว่าค่าปกติ 43 % และภาคใต้ฝั่งตะวันออกต่ำกว่าค่าปกติ 23 % ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สูงกว่าค่าปกติ 10 % 9%และ 2 % ตามลำดับ
สำหรับในช่วงเดือนกรกฏาคมถึงเดือนกันยายน 2558 บริเวณประเทศไทยตอนบน ในช่วงประมาณสามสัปดาห์แรกของเดือนกรกฏาคม มรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย โดยส่วนใหญ่จะมีกำลังอ่อน ทำให้ประเทศไทยมีฝนน้อย จากนั้นช่วงปลายเดือนกรกฏาคมถึงเดือนกันยายน มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่ปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยจะมีกำลังแรงเป็นระยะ ๆ ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านประเทศไทยตอนบนเป็นระยะ ๆ ซึ่งลักษณะดังกล่าว จะส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนชุกหนาแน่น โดยจะมีฝนตกโดยทั่วไปและตกหนักมากในหลายพื้นที่ สำหรับคลื่นลมฝั่งตะวันออกจะมีกำลังแรง ความสูงของคลื่น 2-3 เมตร ส่วนภาคใต้ในช่วงสามสัปดาห์แรกของเดือนกรกฏาคม 2558 จะมีฝนน้อย จากนั้นในช่วงปลายเดือนกรกฏาคมถึงกันยายนจะมีฝนตกชุกหนาแน่น
สำหรับสถานการณ์ภาวะความเป็นเอลนีโญกำลังอ่อนถึงปานกลาง โดยคาดการณ์ว่า จะเป็นปรากฏการณ์เอลนีโญไปตลอดทั้งปี 2558 และมีแนวโน้มว่าจะแรงขึ้น และส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนต่ำกว่าค่าปกติ และอุณหภูมิสูงกว่าค่าปกติโดยเฉพาะช่วงต้นฤดูฝน โดยฤดูฝนปีนี้ของประเทศไทยตอนบน คาดว่าจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม ส่วนภาคใต้โดยเฉพาะฝั่งตะวันออก จะยังคงมีฝนตกต่อไปอีกจนถึงเดือนธันวาคม
เอลนีโญ เป็นคำที่ใช้เรียกปรากฏการณ์ธรรมชาติทางสมุทรศาสตร์ มีหลักฐานแสดงว่าเอลนีโญได้เกิดขึ้นนานนับพันปีมาแล้ว แม้แต่เอลนีโญที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2525 – 2526 ซึ่งรุนแรงมากก็ยังไม่ได้ถูกกล่าวขานว่าเป็นเอลนีโญจนกระทั่งปรากการณ์นี้ได้เกิดขึ้นแล้วหลายเดือน เนื่องจากปรากฏการณ์นี้เป็นต้นเหตุให้เกิดผลกระทบต่อภูมิอากาศของโลกอย่างรุนแรง เช่น อเมริกาเหนือประสบกับสภาพอากาศที่ผิดปกติอย่างมากตลอดปี 2526 ออสเตรเลียประสบกับสภาวะความแห้งแล้งมากและเกิดไฟป่าเผาผลาญ ประเทศใกล้ ๆ ทะเลทรายสะฮาราประสบกับความแห้งแล้งที่เลวร้ายมากที่สุดช่วงหนึ่ง และลมมรสุมในมหาสมุทรอินเดียอ่อนกำลังลงมาก ประมาณว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดอยู่ระหว่าง 8 – 13 พันล้านเหรียญสหรัฐ และสูญเสียชีวิตประมาณ 2,000 คน
ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ได้มีการลงทุนจำนวนมากในการตรวจวัดอากาศและการวิจัยเพื่อเพิ่มพูนขีดความสามารถในการพยากรณ์ปรากฏการณ์นี้ จนกระทั่ง 10 ปีสุดท้ายจึงได้มีความเข้าใจถึงการเกิดและการคงอยู่ของเอลนีโญ อย่างไรก็ตามเมื่อไม่นานมานี้ได้มีการใส่ความสัมพันธ์ระหว่างกันของบรรยากาศและมหาสมุทรที่สลับซับซ้อนและจำนวนข้อมูลอันมหาศาลเข้าไปในแบบจำลองเพื่อทำการพยากรณ์ ปรากฏการณ์เอลนีโญ
ในระยะหลังตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา เอลนีโญได้เกิดบ่อยครั้งขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา จึงสมควรที่จะทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยในบทความนี้จะกล่าวถึงความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ผลกระทบ และข่าวสารเกี่ยวกับปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2540 – 2541 โดยรวบรวมข้อมูลจากเอกสารขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก แหล่งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และศูนย์พยากรณ์ภูมิอากาศหลัก ๆ หลายศูนย์ เพื่อวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่ต่อสาธารณชน รวมถึงผู้มีอำนาจในการตัดสินใจด้านนโยบายได้ทราบถึงปัญหาที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ
ข้อมูลจากเว็ปไซด์กรมอุตุนิยมวิทยา ได้อธิบาย ความหมายของเอลนีโญ ดังนี้
เอลนีโญ มีความหมายแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มบุคคล ในภาษาสเปน คำว่าเอลนีโญ (el niño) หมายถึง เด็กชายเล็ก ๆ แต่หากเขียนนำด้วยอักษรตัวพิมพ์ใหญ่ เอลนีโญ (El Niño) หมายถึง ทารกพระเยซูคริสต์ สำหรับชาวเปรูจะมีความหมายเพิ่มเติม คือ หมายถึงกระแสน้ำอุ่นที่ไหลเลียบชายฝั่งเปรูลงไปทางใต้ทุก ๆ 2 – 3 ปี หรือกว่านั้น และได้ตั้งชื่อกระแสน้ำอุ่นนี้ว่าเอลนีโญก่อนเริ่มศตวรรษที่ 20 โดยเริ่มรู้จักและสังเกตเห็นครั้งแรกประมาณปี ค.ศ. 1892 การที่ตั้งชื่อว่า เอลนีโญ เนื่องจากจะมีน้ำอุ่นปรากฏอยู่ตามชายฝั่งเปรูเป็นฤดู ๆ โดยเริ่มประมาณช่วงคริสต์มาส (ช่วงฤดูร้อนของซีกโลกใต้ ซึ่งตรงกับช่วงฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ) น้ำอุ่นนี้จะไหลเข้าแทนที่น้ำเย็นที่อยู่ตามชายฝั่งเปรูนานประมาณ 2 – 3 เดือน (โดยปกติแล้วตามชายฝั่งเปรูจะมีน้ำเย็นปรากฏอยู่ ซึ่งเป็นผลมาจากขบวนการไหลขึ้นของน้ำเย็นจากใต้มหาสมุทรขึ้นมายังผิวน้ำ ซึ่งทำให้น้ำเย็นอันอุดมไปด้วยธาตุอาหารไหลขึ้นมายังผิวน้ำ)
บางครั้ง น้ำอุ่นที่ปรากฏเป็นระยะ ๆ ตามชายฝั่งประเทศเปรูและเอกวาดอร์ อาจจะคงอยู่นานเกินกว่า 2 – 3 เดือน ซึ่งบางครั้งอาจจะยาวนานข้ามไปปีถัดไป ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาชายฝั่งซึ่งเกี่ยวข้องกับปลา นกที่กินปลาเป็นอาหาร และกิจกรรมที่เกี่ยวกับการประมงและเกษตรกรรม ฝนที่ตกหนักเนื่องจากเอลนีโญทางเอกวาดอร์ใต้และเปรูเหนือบางครั้งทำให้เกิดความเสียหายในหลาย ๆ เมือง
ประมาณกลางทศวรรษ 1970 มีคำจำกัดความเกี่ยวกับเอลนีโญมากมาย และประมาณปลายทศวรรษ 1990 หลายสิบคำจำกัดความของเอลนีโญตั้งแต่ง่าย ๆ จนถึงซับซ้อนปรากฏอยู่ในบทความและหนังสือด้านวิทยาศาสตร์ทั่วไป ดังตัวอย่างของคำจำกัดความ เอลนีโญ คือ ช่วง 12 ถึง 18 เดือนที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลทางครึ่งซีกด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนอุ่นกว่าปกติ เป็นต้น เอลนีโญที่มีขนาดปานกลางหรือรุนแรงจะเกิดขึ้นไม่สม่ำเสมอ เฉลี่ยประมาณ 5 – 6 ปีต่อครั้ง
แม้ว่าที่ผ่านมาเอลนีโญจะมีความหมายมากมาย แต่ความหมายอันเป็นที่รับรู้และเข้าใจกันโดยทั่วไปในปัจจุบันคือการอุ่นขึ้นอย่างผิดปกติของน้ำทะเลบริเวณตอนกลางและตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน ซึ่งเกิดจากการอ่อนกำลังลงของลมค้า (trade wind) คำจำกัดความของเอลนีโญแม้จะมีมากมายแต่ลักษณะบางอย่างซึ่งเป็นลักษณะปกติของเอลนีโญจะปรากฏให้เห็น คือ
การอุ่นขึ้นผิดปกติของผิวน้ำทะเล กระแสน้ำอุ่นที่ไหลลงทางใต้ตามชายฝั่งประเทศเปรู เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่สูงขึ้นทางด้านตะวันออก และตอนกลางของแปซิฟิกเขตศูนย์สูตร ปรากฏตามชายฝั่งประเทศเอกวาดอร์ และเปรูเหนือ (บางครั้งประเทศชิลี) เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของความกดอากาศที่ระดับน้ำทะเล เกิดร่วมกับการอ่อนกำลังลงของลมค้าที่พัดไปทางทิศตะวันตกบริเวณแปซิฟิกเขตศูนย์สูตร เวียนเกิดซ้ำแต่ช่วงเวลาไม่สม่ำเสมอ เกิดแต่ละครั้งนาน 12 – 18 เดือน
ผลกระทบของเอลนีโญต่อปริมาณฝนและอุณหภูมิในประเทศไทย จากการศึกษาสภาวะฝนและอุณหภูมิของประเทศไทยในปีเอลนีโญ โดยใช้วิธีวิเคราะห์ค่า composite percentile ของปริมาณฝน และ composite standardized ของอุณหภูมิในปีเอลนีโญ จากข้อมูลปริมาณฝนและอุณหภูมิรายเดือน ในช่วงเวลา 50 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2494 ถึง 2543 พบว่า ในปีเอลนีโญปริมาณฝนของประเทศไทยส่วนใหญ่ต่ำกว่าปกติ (rainfall Index น้อยกว่า 50) โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนและต้นฤดูฝน และพบว่าเอลนีโญขนาดปานกลางถึงรุนแรงมีผลกระทบทำให้ปริมาณฝนต่ำกว่าปกติมากขึ้น สำหรับอุณหภูมิ ปรากฏว่าสูงกว่าปกติทุกฤดูในปีเอลนีโญ โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนและต้นฤดูฝน และสูงกว่าปกติมากขึ้นในกรณีที่เอลนีโญมีขนาดปานกลางถึงรุนแรง อย่างไรก็ตามจากการศึกษาพบว่าในช่วงกลางและปลายฤดูฝน ไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับสภาวะฝนในปีเอลนีโญได้ชัดเจน นั่นคือ ปริมาณฝนของประเทศไทยมีโอกาสเป็นไปได้ทั้งสูงกว่าปกติและต่ำกว่าปกติหรืออาจกล่าวได้ว่าช่วงกลางและปลายฤดูฝนเป็นระยะที่เอลนีโญมีผลกระทบต่อปริมาณฝนของประเทศไทยไม่ชัดเจน
จากผลการศึกษาพอสรุปได้กว้าง ๆ ว่าหากเกิดเอลนีโญ ปริมาณฝนของประเทศไทยมีแนวโน้มว่าจะต่ำกว่าปกติ โดยเฉพาะฤดูร้อนและต้นฤดูฝน ในขณะที่อุณหภูมิของอากาศจะสูงกว่าปกติ เฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เอลนีโญมีขนาดรุนแรง ผลกระทบดังกล่าวจะชัดเจนมากขึ้น
เอลนีโญที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2540 – 2541 เป็นปรากฏการณ์ที่รุนแรงที่สุดที่เคยมีการตรวจวัดมา
ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญในปี พ.ศ. 2540(2.1) ภูมิภาคที่ได้รับความแห้งแล้ง ตอนเหนือและตะวันออกของออสเตรเลีย ช่วงเดือนเมษายน – พฤศจิกายน 2540 บริเวณตอนเหนือและตะวันออกของทวีปมีฝนรวมต่ำกว่าค่าปกติ ทำให้เกิดความแห้งแล้งทั่วบริเวณ ประกอบกับช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าปกติ จึงก่อให้เกิดไฟป่าขึ้นในบริเวณรัฐวิคตอเรียและนิวเซ้าต์เวลส์เป็นเวลาหลายสัปดาห์
ตอนใต้ของแอฟริกาตะวันตก มีฝนต่ำกว่าปกติตั้งแต่เดือนกรกฎาคมพร้อมกับฤดูฝนได้เริ่มช้ากว่าปกติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณที่ได้รับความแห้งแล้งมากโดยเฉพาะช่วงเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไนและปาปัวนิวกินี และได้เกิดไฟป่าในอินโดนีเซีย และรัฐซาราวัคของมาเลเซียตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึงปลายปี 2540 บริเวณอื่น ๆ ที่ได้รับความแห้งแล้งคือ ประเทศไทย บางส่วนของพม่า ลาว เขมรและเวียดนาม สหรัฐอเมริกาตะวันออก แห้งแล้งช่วงเดือนเมษายน – ตุลาคม ต่อจากนั้นเป็นฤดูหนาวที่หนาวน้อยอเมริกากลาง มีสภาพอากาศแล้งปกคลุมช่วงเดือนมิถุนายน – ตุลาคมตอนเหนือของอเมริกาใต้ มีอากาศร้อนและแห้งแล้งในช่วงครึ่งหลังของปี