ครูพิษณุโลกเขต 1ลงพื้นที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนำมาสอนนร.

วันที่ 18 สิงหาคม 2560 นายสุนัย วงศ์สุวคันธ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1 เป็นประธานเปิดการอบรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ภาคสนามและการสร้างผลงานทางประวัติศาสตร์ ณ ห้องประชุมขวัญมณฑล สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพิษณุโลก เขต 1 มีครูผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์จากโรงเรียนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งในระดับประถมศึกษาและโรงเรียนขยายโอกาส สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1 จำนวน 60 คน เข้ารับการอบรม
นายสุนัย กล่าวตอนหนึ่งว่า เดือนสิงหาคม 2560 เป็นเดือนแห่งการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ตามแนวพระราชดำริ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 กอรปกับสถาบันสังคมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้จัดทำโครงการเสริมสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย รูปแบบ Active Learning เพื่อเป็นแนวทางให้ครูผู้สอนประวัติศาสตร์นำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน โดยมุ่งให้นักเรียนได้ฝึกคิดวิเคราะห์ เรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้วยวิธีการของนักประวัติศาสตร์ ให้นักเรียนเกิดความรักและภูมิใจในท้องถิ่นและประเทศชาติ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1 ได้ดำเนินโครงการเสริมสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย รูปแบบ Active Learning โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 อบรมการสอนประวัติศาสตร์อย่างไรให้เป็น Active Learning เป็นภาคความรู้ประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีวิทยากรจากสำนักศิลปากร ที่ 6 สุโขทัยมาอบรมให้ความรู้แก่ครูผู้สอนประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา และ ระยะที่ 2 เป็นภาคปฏิบัติ เรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ภาคสนาม เป็นการนำความรู้จากการอบรมระยะที่ 1 มาใช้
โดยการแบ่งกลุ่มครูผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ที่เข้ารับการอบรมไปศึกษาประวัติศาสตร์ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหาร หรือวัดใหญ่ วัดนางพญา และวัดราชบูรณะ ซึ่งเป็นวัดคู่บ้านเมืองพิษณุโลกและมีประวัติศาสตร์รวมถึงโบราณสถานอันงดงาม เพื่อให้คณะครูได้ใช้ทักษะทางประวัติศาสตร์ รวบรวมข้อมูลหลักฐานจากแหล่งต่างๆ ประเมินค่าเนื้อหาและข้อมูลที่ปรากฏ แล้วเปรียบเทียบเนื้อหาและข้อมูลที่ได้จากหลักฐานนั้น ๆ กับหลักฐาน เอกสารข้อมูลแวดล้อมอื่น ๆ เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริง หรือ ความจริงทางประวัติศาสตร์ และนำกลับมานำเสนอผลงาน โดยมีวิทยากรที่ส่งผลงานทางประวัติศาสตร์ของนักเรียนในระดับประเทศจากโรงเรียนอนุบาลพิษณุโลก โรงเรียนจ่าการบุญ โรงเรียนวัดยางเอนและโรงเรียนวัดปากพิงตะวันตก มาให้คำแนะนำและเสนอแนะแนวทางการสร้างผลงานนักเรียนให้กับผู้เข้ารับการอบรมด้วย

แสดงความคิดเห็น