สาธารณสุขแนะถูกสุนัขแมวกัดข่วนอย่าชะล่าใจให้รีบล้างแผลและพบแพทย์ทันที

สาธารณสุขพิษณุโลก แนะประชาชนถูกสุนัข แมวข่วน อย่าชะล่าใจ! แค่แผลนิดเดียว อาจติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้ 
      นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลกเปิดเผยว่า จากสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าของไทยขณะนี้เป็นที่น่ากังวลอยู่ เนื่องจากที่ผ่านมายังมีการตรวจพบสุนัขที่สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง กรมปศุสัตว์รายงานว่าปี 2561 เพียง 2 เดือนพบผู้เสียชีวิตจากโรคนี้แล้ว 2 ราย ขณะนี้มีการตรวจพบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 251 ตัว ซึ่งสูงกว่าระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 1.5 เท่า โดยพบว่าสุนัขเป็นสัตว์ที่ติดเชื้อมากที่สุดกว่าร้อยละ 90 นอกนั้นพบในแมว และโค ซึ่งมีรายงานการตรวจพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในโคเพิ่มขึ้น จังหวัดที่พบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ยโสธร กาฬสินธ์ และอำนาจเจริญ ตามลำดับ

สำหรับจังหวัดพิษณุโลกพบสัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้า ล่าสุด เมื่อ ปี 2559 ที่อำเภอบางระกำ ส่วนในคนพบผู้ป่วยรายสุดท้ายเมื่อปี 2548 ที่ อำเภอบางกระทุ่ม ขณะที่ในปี 2560 มีประชาชนที่ถูกสัตว์กัดหรือข่วนเข้ามารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 7,157 ราย มากที่สุดที่อำเภอเมือง 1,151 ราย รองลงมาคืออำเภอบางระกำ 1,026 ราย ในปี 2561 ตั้งแต่ มกราคม ถึงกุมภาพันธ์ มีประชาชนโดนสุนัขและแมวกัด มาฉีดวัคซีนป้องกันโรคฯ  928 ราย มากที่สุดที่อำเภอเมือง 214 ราย รองลงมาคืออำเภอวัดโบสถ์ 125 ราย ซึ่งขณะนี้ โรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดพิษณุโลกได้เตรียมความพร้อมด้านวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเพื่อให้เพียงพอต่อประชาชนที่มารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าว และมาตรการที่สำคัญขณะนี้คือหน่วยงานสาธารณสุขได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลกอย่างใกล้ชิด หากพบสัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้า จะเร่งค้นหาและติดตามประชาชนที่สัมผัสโรคตามเกณฑ์ที่ต้องรับวัคซีน ให้มารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกราย 

ประชาชนท่านใดหากถูกสุนัขแมวกัดหรือข่วน ให้รีบล้างแผลโดยใช้สบู่และน้ำสะอาดล้างบริเวณบาดแผลหลายๆ ครั้งอย่างเบามือ ใส่ยาฆ่าเชื้อ โดยทาหลังจากการล้างแผลและซับให้แห้ง กักหมา 10 วัน และรีบมาพบแพทย์เพื่อพิจารณาตัดสินใจในการให้วัคซีน และต้องมาฉีดวัคซีนให้ครบตรงตามนัดทุกครั้ง อย่าประมาทคิดว่าแผล หรือรอยขีดข่วนนิดเดียวคงไม่เป็นอะไร เพราะหากปล่อยให้มีอาการป่วยจะเสียชีวิตทุกราย ส่วนท่านที่เลี้ยงสุนัขให้สังเกตว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ จากการที่สุนัขจะมีนิสัยพฤติกรรมเปลี่ยนไปในระยะแรกต่อมาจะมีอารมณ์หงุดหงิด หางตก น้ำลายไหล กัดสิ่งของที่ขวางหน้า ระยะท้ายอาจมีอาการ บางตัวอาจแสดงอาการคล้ายกระดูกหรือก้างติดคอ ซึ่งทำให้เจ้าของ เข้าใจผิดจนเอามือไปล้วงที่ปาก คลำหาก้างหรือกระดูก หากพบสุนัขมีอาการดังกล่าว ขอให้นึกถึงโรคพิษสุนัขบ้า และแยกสุนัขไว้ไม่ให้คลุกคลีกับสุนัขอื่นหรือคน และแจ้งปศุสัตว์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที อีกทั้งให้ลดความเสี่ยงถูกสุนัขกัดด้วยคำแนะนำ5 ย.คือ1. อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห โกรธ2. อย่าเหยียบหาง หัว ตัว ขา หรือ ทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ3. อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า4. อย่าหยิบชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ5. อย่ายุ่งหรือเข้าใกล้กับสุนัขหรือสัตว์ต่างๆนอกบ้านที่ไม่มีเจ้าของหรือไม่ทราบประวัตินายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลกกล่าวในที่สุด หากมีข้อสงสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ055 252052 ต่อ 654

 

แสดงความคิดเห็น