วัดเนินกุ่มเหนือ หรือ วัดราษฏร์ศรัทธาราม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก สืบสานประเพณีกวนข้าวยาคู หรือข้าวกระยาคูโบราณ ประเพณีที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นมากว่า 100 ปี ในช่วงเทศกาลลอยกระทง เพื่ออนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้สืบทอดกันต่อไปไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา และนำรายได้จากการจำหน่าย ไปสบทบทุนสร้างศาลาการเปรียญของทางวัดเพื่อใช้เป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธต่อไป
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 ที่วัดราษฏร์ศรัทธาราม หรือวัดเนินกุ่มเหนือ ม.3 ต.เนินกุ่ม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงกว่า 50 คน กำลังลงมือร่วมแรงร่วมใจ เตรียมส่วนผสมของการกวนข้าวยาคู หรือ ข้าวกระยาคู โบราณ ซึ่งเป็นประเพณีศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อที่ตกทอดกันมาว่า หากผู้ใดได้ร่วมบุญใหญ่กวนข้าวยาคู จะทำให้ครอบครัวมีแต่ความสุขความเจริญ นับได้ว่าเป็นประเพณีโบราณ ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นกว่า 100 ปี จะจัดขึ้นเพียงปีล่ะ 1 ครั้ง ในช่วงคืนก่อนเทศกาลลอยกระทง เพื่อเป็นการหารายได้เข้าวัด สบทบทุนในการจัดสร้างศาลาการเปรียญ
พระครูอนุรักษ์นิติสาร เจ้าอาวาส วัดราษฏร์ศรัทธาราม หรือวัดเนินกุ่มเหนือ ได้บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ในวันก่อนวันลอยกระทง ชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้เคียงจะร่วมใจกันนำข้าวอ่อนที่ยังเป็นน้ำนมอยู่ พร้อมด้วย นมข้นหวาน แป้ง น้ำตาล มะพร้าว กล้วยไข่ มาถวายให้กับทางวัด เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการกวนข้าวยาคูโบราณ ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมากว่า 100 ปี จะทำปีล่ะ 1 ครั้ง ในช่วงเทศกาลลอยกระทง
ข้าวยาคู หรือ ข้าวกระยาคู ถือได้ว่าเป็นขนมไทยโบราณที่ปัจจุบันเป็นของที่หาดู และหารับประทานได้ยากยิ่งนัก เนื่องจากเป็นขนมที่จะได้เฉพาะช่วงก่อนฤดูการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบมีความเกี่ยวพันกับความเชื่อตามวิถีชีวิตดั้งเดิม ของคนไทย ในเรื่องการนับถือ “แม่โพสพ” จึงทำให้ขนมชนิดนี้มีความพิเศษ และไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ข้าวกระยาคู เป็นข้าวที่นำมาปรุงกับอาหารอื่นๆ เช่น ในสมัยพุทธกาล พระอานนท์ก็เคยปรุงข้าวกล้อง ถั่วเขียว และงาทำเป็นข้าวเหลวๆ ถวายพระพุทธเจ้า ตอนที่ท่านตถาคตประชวรด้วยโรคลมในท้อง ดังนั้น ข้าวกระยาคู จึงเหมาะสำหรับโรคเกี่ยวกับท้อง แก้หิวกระหาย ชูกำลัง และแก้อาการอ่อนเพลีย บ้างก็ว่าเป็นข้าวที่มีคุณสมบัติเป็นยาอายุวัฒนะอีกด้วย
สำหรับข้าวยาคู หรือข้าวกระยาคู คือข้าวอ่อนที่ยังเป็นน้ำนมอยู่ เปลือกมีสีเขียวอ่อนๆ ต้องคั้นสดๆ ทันทีที่ตัดจากต้น ถ้าแห้งแล้วจะไม่มีน้ำ น้ำข้าวยาคูมีลักษณะสีเขียวอ่อนๆ ข้นแบบน้ำนม ทางวัดจะนำข้าวมาตำแทนการโม่เพราะจะทำให้มีกลิ่นหอมกว่า นำไปผสมกับน้ำกะทิ แป้ง น้ำตาล และนมข้นหวานเล็กน้อย จากนั้นจะนำไปกวน ซึ่งพิธีการกวนข้าวยาคู นับเป็นพิธีโบราณที่ศักดิ์สิทธิ์ บริเวณโดยรอบประรัมพิธีต้องขึงได้สายสิญจน์ ผู้ที่เข้าไปได้จะมีเพียง 8 คนเท่านั้น คือสาวพรหมจรรย์ 4 คน ตาปะขาว 4 คน และพระสงฆ์ทำพิธีสวดบทธรรมจักร 7 ชั้น
จากนั้นจึงให้สาวพรหมจรรย์ทั้ง 4 ไปทำพิธีขูดมะพร้าว ก่อไฟฟืนกระทะใบบัว และลงมือกวนข้าวยาคู เมื่อพิธีสวดเสร็จสิ้น เก็บสายสิญจน์ บริเวณประรัมพิธีแล้วชาวบ้านจึงจะสามารถเข้าไปช่วยกวนได้ซึ่งระยะเวลาการกวนจะใช้เวลาประมาณ 5-6 ชั่วโมงจนกว่าจะงวดจากนั้นจะนำเก็บไว้ที่บริเวณประรัมพิธี จนกว่าจะรุ่งสางของวันลอยกระทงจึงจะเปิดจำหน่ายให้กับประชาชนที่สั่งจองล่วงหน้าไว้ ในราคากิโลกรัมละ 120 บาท โดยมีความเชื่อว่าใครได้ร่วมบุญใหญ่กวนข้าวยาคู หรือทานข้าวยาคู ชีวิตครอบครัวจะมีแต่ความสุขความเจริญ นอกจากนี้ทางวัดยังมีการทอดข้าวเม่าพอกจำหน่ายในช่วงเทศกาลลอยกระทงโดยชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจกันทอดจำหน่ายในราคาแพละ 25 บาท รายได้จากการจำหน่ายข้าวยาคู และข้าวเม่าพอกจะนำเข้าวัดเพื่อใช้สมทบทุนการจัดสร้างศาลาการเปรียญ ที่ขณะนี้แล้วเสร็จไปแล้วประมาณ 90 %
…………………………………………..