ประชาชนโมเดลวิพากษ์บางระกำโมเดล

บางระกำโมเดล

นายมนัส  ทับแผลง กำนันต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก แกนนำผู้เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง เปิดเผยว่า ตนเครียดมากกับปัญหาน้ำท่วมอ.บางระกำในปีนี้ เครียดและคิดแทนพี่น้องเกษตรกรได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมนาข้าวอย่างมาก และยังไม่มีทางแก้เรื่องหนี้สิน ความเป็นอยู่ จนตนเส้นเลือดในสมองตีบ และเป็นอัมพาตไปครึ่งซีก ไม่สามารถเดินได้มา 2 อาทิตย์แล้ว

 

บางระกำโมเดล

นายมนัส เผยถึงมุมมองต่อการขับเคลื่อนบางระกำโมเดลในขณะนี้ว่า เห็นแนวทางที่จังหวัดและอำเภอบางระกำ กำลังดำเนินการอยู่ ทั้งแก้มลิงกักเก็บน้ำ ทางด่วนน้ำ หรือ water way ตามแนวคิดผวจ.พิษณุโลกแล้ว คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ ถ้าหากไม่ดำเนินการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างแก่งเสือเต้น เพื่อชะลอและควบคุมน้ำ เพราะแต่ละปีแม่น้ำยมมาปริมาณมาก แก้มลิงบางระกำคงเก็บน้ำได้ไม่เท่าไหร่ ขนาดจ.สุโขทัยมีแก้มลิงทะเลหลวงขนาดใหญ่มาก ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เลย ทางด่วนน้ำผันยมลงน่านก็จะทำได้หรือในสถานการณ์อย่างนี้ที่แม่น้ำน่านระดับสูงมาก

บางระกำโมเดล

 

นายมนัส เผยต่อว่า ต้องมีอ่างเก็บน้ำตอนบนของแม่น้ำยมด้วย บางระกำโมเดลจึงจะขับเคลื่อนได้ ยังพอช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ และจะมาแก้ปัญหาน้ำท่วมเฉพาะบางระกำที่เดียวไม่ได้ ถ้าแก้บางระกำน้ำไม่ท่วม แล้วเกิดปัญหาที่สุโขทัย แพร่ พิจิตร บางระกำโมเดลก็ล้มเหลว

 

นายสมควร  รุ่งเรือง ผญบ.ม.10 บ้านวังขี้เหล็ก ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก พื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างหนักจากแม่น้ำยมสายเก่า เปิดเผยว่า บางระกำโมเดลที่เริ่มต้นวันนี้ ยังถือว่าทำ ดีกว่าไม่ได้เริ่มทำ แต่จะแก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งได้หรือไม่นั้น คงต้องรอดูสิ่งที่ภาครัฐจะทำ วันนี้ ผู้ว่าจะทำทางด่วนน้ำ ผันน้ำยมลงแม่น้ำน่าน ตนมองว่าปีหน้าหรือปีต่อไปพวกตนก็ต้องได้รับผลกระทบอีก เพราะการระบายน้ำจากแม่น้ำยมที่อ.สวรรคโลก มาลงแม่น้ำยมสายเก่า น้ำก็จะบ่าท่วมทุ่งอีก สิ่งที่ชาวอ.พรหมพิรามอยากได้คือ ต้องทำคันดินยกสูงกั้นแม่น้ำยมสายเก่าด้วย และต้องทำคันดินเครือข่ายแม่น้ำยมให้ครอบคลุมทุกจังหวัด สุโขทัย พิษณุโลก มิฉะนั้นน้ำก็จะไหลย้อมกลับมาท่วมอีก

 

นายสมควร บอกว่า อยากให้บางระกำโมเดลพิจารณาแนวคิดชดเชยการไม่ปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 มาใช้ในพื้นที่น้ำท่วมลุ่มน้ำยม ในเขตอ.พรหมพิราม อ.บางระกำ อ.เมือง ข้าวนาปรังรอบสอง ที่ปลูกระหว่างเดือนเมษายน-เก็บเกี่ยวช่วงกรกฏกาคม-ต้นสิงหาคม ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมไม่ต้องลงมือปลูก ส่วนนี้อยากให้ภาครัฐพิจารณาเงินชดเชยการไม่ปลูกข้าวไปเลย ไม่ต้องเสี่ยงกับลุงทุนแล้วน้ำท่วม มีข้อมูลอยู่แล้วว่าพื้นที่ไหนน้ำท่วมบ้าง ในระหว่างน้ำท่วม ให้ประชาชนทำอาชีพอื่นทำเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกพืชน้ำ หาปลา ทำปลาร้า น้ำปลา และเมื่อน้ำลดลงช่วงปีใหม่ก็ทำนาปรังเพียงรอบเดียว ส่วนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่นั้น ตนมองว่า ถ้าเขื่อนแก่งเสือเต้นสร้างได้ก็ควรสร้าง และควรสร้างเขื่อนด้านล่างจังหวัดแพร่ด้วย เป็นการบล็อกสองชั้น ปีนี้น้ำตกท้ายจังหวัดแพร่มากและสร้างผลกระทบกับสุโขทัยพิษณุโลกอย่างมากเช่นกัน

บางระกำโมเดล

 

นายสาคร  สงมา เครือข่ายองค์กรฟื้นฟูชาวบ้านภาคเหนือตอนล่าง  เอ็นจีโอที่ดำเนินกิจกรรมในจังหวัดพิษณุโลกมานาน มองว่า บางระกำโมเดล ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี เป็นความร่วมมือที่ทุกคนใส่ใจ แต่การแก้ไขปัญหาที่เดียวคงไม่เพียงพอ การแก้ปัญหาน้ำท่วมภัยแล้งในลุ่มน้ำยมต้องทำทั้งระบบ ให้ครอบคุลมทุกจังหวัดในลุ่มน้ำยม บทเรียนที่ผ่านมาปีนี้เห็นได้ชัดคือ การแก้ปัญหาไม่ให้น้ำท่วมตัวเมืองสุโขทัย ด้วยการผันน้ำยมลงสู่แม่น้ำน่านและแม่น้ำยมสายเก่า สร้างผลกระทบต่อเกษตรกรอ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ เรื่อยลงมาถึงอ.พหรพมิราม อ.เมือง และอ.บางระกำ จ.พิษณุโลก

 

นายสาคร เผยต่อว่า การทำบางระกำโมเดลต้องคิดให้ละเอียดมากกว่านี้ เช่น ถนนที่ขวางทางน้ำจะจัดการอย่างไร การจะพัฒนาบึงตะเคร็ง บึงหล่ม บึงระมาน ต้องออกแบบพื้นที่ให้ไม่กระทบกับคนที่ไปจับจองทำกิน คลองบางแก้ว คลองสาขา จะต้องออกแบบการขุดลอก รวมถึงแนวคิดทางด่วนน้ำของผวจ.พิษณุโลกก็ต้องพิจารณาถึงผลกระทบในภาพรวม สำหรับเขื่อนแก่งเสือเต้น ขอให้เลิกคิดได้เลย ผลกระทบมีมาก ตนมองว่าแม่น้ำยมตอนบน ควรแก้ปัญหาด้วยการเร่งพื้นที่ป่า ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ส่วนแม่น้ำยมตอนล่างควรแก้ปัญหาด้วยการบริหารจัดการน้ำ

 

บางระกำโมเดล

“ ในระยาวอย่ามองแต่เรื่องการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ เพียงอย่างเดียว ควรมองเรื่องการปรับตัวของประชาชนในพื้นที่ภัยพิบัติ ทำอย่างไรให้คนอยู่ท่ามกลางภัยพิบัติได้ ทั้งที่อยู่อาศัย อาชีพ บางระกำโมเดลวันนี้เริ่มต้นดีแล้ว และไม่อยากเห็นตอนสุดท้ายว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ “นายสาคร กล่าว

 

นายวิบูลย์  ตั้งเกษมวิบูลย์ นายกอบต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก พื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังมากและเป็นศูนย์กลางของการนำร่องบางระกำโมเดล เปิดเผยว่า บางระกำโมเดลวันนี้ เป็นแนวทางการแก้ปัญหาโดยมีภาครัฐ อำเภอบางระกำเป็นพระเอก ตนมองว่าเป็นแนวคิดที่ดี แต่อยากเห็นคือต้องเปิดใจให้ทุกหน่วยงานเข้ามาบูรณาร่วมกัน และอยากเห็นหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะชลประทาน ทางหลวง หรืออื่น ๆ เข้าร่วม ให้เห็นว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่หลักจากนี้ปล่อยให้อำเภอบางระกำจัดการหน่วยเดียว ตนเกรงว่าเริ่มต้นแล้วจะหายไป กลายเป็นไฟไหม้ฟาง

บางระกำโมเดล

 

นายวิบูลย์ เผยต่อว่า ที่เราอยากเห็นมากที่สุดขณะนี้คือการรับฟังความเห็นจากภาคประชาชน ตอนนี้ภาคประชาชนแทบไม่รู้เรื่องเลยว่าบางระกำโมเดลเป็นอย่างไร ภาคประชาชนมองคนละอย่างกับภาครัฐ ทุกคนรู้ว่าสิ่งดี ๆ จะเกิดขึ้น ขณะนี้ภาครัฐต้องบริหารความหวังของประชาชน และยังไม่เคยรับรู้เลยว่าประชาชนโมเดลมองอย่างไร จะเป็นเขื่อน คลอง ฝาย ภาครัฐจ้องขับเคลื่อนและสนับสนุนโดยยึดการมีส่วนร่วมของประชาชน ตนเกรงว่าหลังจากนี้ อำเภออาจจะมองว่าทำเสร็จแล้ว เริ่มต้นแล้วบางระกำโมเดล แต่หลังจากนี้ไปชาวบ้านมีความคาดหวังสูงมอง มองบางระกำโมเดลเป็นผู้วิเศษ ต่อจากนี้ไปใครจะเป็นผู้บริหารความต้องการของประชาชน

 

นายกอบต.บางระกำ เผยต่อว่า ตำบลบางระกำได้ทำประชาคมประชาชนกว่า 4,000 ครัวเรือน มีข้อเรียกร้องเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมภัยแล้งในอ.บางระกำ 3 ประการ โดยพาะเมื่อเริ่มต้นบางระกำโมเดลแล้ว ได้แก่ 1.ทำอย่างไรต่อไปนี้ น้ำจะท่วมอ.บางระกำเมื่อถึงเวลาอันควร ประชาชนมีเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทัน ภาครัฐต้องไปคิดและบริหารจัดการ ช่วงเดือนกรกฏาคม-สิงหาคม น้ำต้องไม่เต็มทุ่ง 2.ค่าระดับการท่วมต้องไม่ท่วมมโหฬารแบบนี้ แบบน้ำมิดฟ้ามิดแผ่นดิน จะบังคับด้วยวิธีwater way หรือ อะไรก็แล้วแต่ และต้องมีการระบายน้ำออกอย่างเหมาะสมในเวลาอันที่ควร เพราะช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ชาวนาจะเริ่มปลูกข้าว ต้องมีน้ำบางส่วนอยู่ในแม่น้ำยม 3.หลังน้ำท่วม คนบางระกำจะเหลืออะไรจากน้ำท่วมก้อนใหญ่ จะมีน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งอย่างไร เรื่องนี้ภาครัฐก็ต้องขับเคลื่อน จะเป็นเหมือง ฝาย หรือแก้มลิง สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ภาคประชาชนต้องการจากบางระกำโมเดล และยังคาดหวังว่าบางระกำโมเดลไม่ใช่เริ่มต้นวันนี้แล้วก็จบไป

แสดงความคิดเห็น