มน.ชวนสร้างอุทยานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

วันที่ 10 ตุลาคม 2554 ที่สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ศ.ดร.สุจินต์  จินายน อธิกาบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร พลเอกดร.ศิริ  ทิวะพันธุ์ อุปนายกสมาคมมหาวิทยาลัยนเรศวร และนายปริญญา  ปานทอง  รองอธิการบดีฝ่ายจัดการทรัพย์สินมหาวิทยาลัยนเรศวร แถลงข่าวสื่อมวลชนถึงการสร้างอุทยานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพิธีพุทธพระพุทธชินราชเสาร์ 5 รุ่นนเรศวรอินโดจีนย้อนยุค วัตถุประสงค์เพื่อมอบให้กับผู้ร่วมจัดสร้าง อุทยานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

 

ศ.ดร.สุจินต์  จินายน อธิกาบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า โครงการ อุทยานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตั้งอยู่บนพื้นที่ 79 ไร่ บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีวัตถุประสงค์สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่จัดแสดงความรู้ นวัตกรรม และพัฒนาการการเรียนรู้ในทุกด้าน ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงองค์ความรู้ของโลก มีเทคโนโลยีแนวรักษ์โลก (Think Earth) รวมทั้งเป็นอาคารที่ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อม (Eco-Architecture) การประหยัดพลังงาน นำประโยชน์จากพลังงานธรรมชาติมาหมุนเวียนใช้ในอาคาร และยังสะท้อนให้เห็นถึงต้นกำเนิดแห่งภูมิปัญญาเทคโนโลยีการก่อสร้างของมวลมนุษย์ชาติ ในด้านดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นอาคารในโลกอนาคต
ปรัชญาแนวความคิดในการออกแบบวางผังสถาปัตยกรรมได้รับแรงบันดาลใจมาจาก วีรกรรมในการกอบกู้อิสระภาพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่มีต่อชาติไทย โดยใช้การอุปมา (Metaphor) ในการวางผังสถาปัตยกรรมสะท้อนให้เห็นถึงพระวิริยะอุตสาหะในสมรภูมิ  การรบ การเดินทัพ การตั้งทัพ ท่ามกลางภูมิประเทศที่ลำบากเต็มไปด้วยอุปสรรคนานับประการจากป่าไม้ ภูเขา ลำน้ำ และไข้ป่า อาคารหลักแสดงการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ที่บ่งบอกถึงเวลาทรงรอคอยประกาศอิสรภาพ เป็นเวลานานถึง 13 ปี ณ พระราชวังจันทน์

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้กู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ประมาณ 200 ล้านบาท ซื้อที่ดินจากเอกชนด้านหน้ามหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อสร้างอุทยานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.อุทยานมหาราช ประกอบด้วย มณเฑียรนเรศวร ภายในประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขนาดใหญ่เนื้อโลหะ กำแพงเล่าเรื่อย ภาพสลักนูนต่ำเล่าประวัติศาสตร์การพัฒนาชาติไทยในอดีตถึงปัจจุบัน ศาลา 4 สมัย สวนวัฒนธรรม 4 ภาค

 

2.ศูนย์ประชุมนเรศวรมหาราช ประกอบด้วยห้องประชุมขนาดใหญ่ ความจุ 3,000-4,000 คน และห้องประชุมย่อย อาคารจัดแสดงนิทรรศการ และ 3.อุทยานนวัตกรรม ประกอบด้วย อาคารนวัตกรรม จัดแสงองค์ความรู้ต่าง ๆ ผลงานวิจัย การทดลองสิ่งประดิษฐ์ ผลงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี พลังงาน สิ่งแวดล้อม เวทีลานเอนกประสงค์

 

อธิการบดีม.นเรศวร เผยต่อว่า คาดว่า อุทยานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จะสร้างความรู้และความภาคภูมิใจในแผ่นดินไทย เพื่อพระเกียรติยศและอัฉริยภาพแห่งวีรกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ จะเป็นศูนย์ประชุมขนาดใหญ่มาตรฐานสากล เพื่อประโยชน์ของภารกิจของมหาวิทยาลัยและเมืองพิษณุโลก ในฐานนะเมืองบริการสี่แยกอินโดจีน และจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างสรรค์เชิงปัญญาแบบบูรณาการแห่งใหม่ของภูมิภาค ขณะนี้ กำลังดำเนินการหาทุนจากผู้มีจิตศัทธาร่วมจัดสร้าง

 

มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ได้จัดพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธชินราชเสาร์ 5 รุ่นนเรศวรอินโดจีนย้อนยุค โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างวัตถุมงคล เพื่อสนับสนุนการสร้าง “อุทยานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” โดยจัดพิธีพุทธาภิเษกในวันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2554 ระหว่างเวลา 13.00 น. – 17.09 น. ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก

สำหรับการสร้างพระพุทธชินราช เสาร์ 5 รุ่นนเรศวรอินโดจีนย้อนยุคพ.ศ.2553 ท่านเจ้าคุณพระธรรมเสนานุวัตร ได้จัดสร้างพระพุทธชินราช เสาร์ 5 รุ่นนเรศวรอินโดจีนย้อนยุค เพื่อสมทบทุนจัดซื้อที่ดินบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อจัดสร้างอุทยานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยได้รับการสนับสนุนมวลสารจากพระธรรมโมลี วัดศาลาลอย จังหวัดสุรินทร์ ได้มอบระฆังจำนวน 35 ลูก เพื่อนำมาสร้างพระพุทธชินราช เสาร์ 5 รุ่นนเรศวรอินโดจีนย้อนยุค จำนวน 100,000 องค์ โดยได้ผ่านพิธีพุทธาภิเษก ถึง 2 ครั้ง ในวันเสาร์ 5 ปี พ.ศ.2553 และ ปี พ.ศ.2554ทั้งนี้มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้กำหนดจัดพิธี   พุทธาภิเษกอีกครั้ง ในวันที่ 10 ตุลาคม 2554 โดยมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังหลายท่านเป็นผู้ทำพิธี ประกอบด้วย หลวงปู่แขก  วัดสุนทรประดิษฐ์ หลวงตาละมัย วัดอรัญญิก หลวงปู่สะอาด วัดเขาแก้ว หลวงพ่อสาย วัดท่าไม้แดง หลวงพ่อทุเรียน วัดศรีคีรีสุวรรณนารามหลวงพ่อจง วัดสังฆาราม พระราชวิจิตรโมลี วัดท่าหลวง พระอาจารย์ไพรินทร์ วัดพระศรีรัตรมหาธาตุวรมหาวิหาร พระอาจารย์มานิต วัดราชคีรีหิรัญยาราม หลวงพ่อพูนวัดบ้านแพน หลวงพ่อเพี้ยน วัดเกริ่นกฐิน หลวงพ่อเอื้อน วัดวังแดง สำหรับคุณลักษณะพิเศษของพระพุทธชินราชเสาร์ 5 รุ่นนเรศวรอินโดจีนย้อนยุครุ่นนี้ ได้ตอกเลขรหัส ตั้งแต่เลขที่ 1 ถึง 100,000 องค์ และมหาวิทยาลัยได้เพิ่มเติม ด้วยการตอกโค๊ต รูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทุกองค์ ซึ่งถึงว่าเป็นพระรุ่นพิเศษมหามงคล

โอกาสนี้มหาวิทยาลัยนเรศวร ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมพิธีพุทธาภิเษก ตามวัน เวลา สถานที่ดังกล่าว และร่วมบริจาคเงิน เพื่อจัดสร้างอุทยานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จำนวน 2,500 บาท ต่อ 1 ตารางวา โดยมหาวิทยาลัยจะมอบ “พระพุทธชินราช เสาร์ 5 รุ่นนเรศวรอินโดจีนย้อนยุค” จำนวน 1 องค์ ให้แก่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงิน พร้อมนี้สามารถรับวัตถุมงคลได้   เมื่อเสร็จพิธี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองกลาง มหาวิทยาลัยนเรศวร โทรศัพท์ 0 5596 2330 กองคลัง มหาวิทยาลัยนเรศวร โทรศัพท์ 0 5596 1168 และ http://www.indosat5.nu.ac.th/ หรือที่ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขา

 

แสดงความคิดเห็น