ไหว้พระ 9 วัด เสริมมงคลชีวิตรับปีใหม่2555

มาเริ่มต้นเดินทางท่องเที่ยวกับพิษณุโลกฮอตนิวส์ เฉลิมฉลองฤดูกาลท่องเที่ยวศักราชใหม่ ปี 2555 เพื่อให้สมกับปีแห่งความสุข หัวเราะชื่นบาน ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการเสริมมงคลให้กับชีวิตกันก่อนเลย

 

 

เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ คนไทยและนักท่องเที่ยวมักสนใจและใส่ใจในเรื่องของการทำบุญกันมาเป็นพิเศษ อย่างการทำบุญเชิงท่องเที่ยวแบบวันเดียวได้ทำบุญมากถึงเก้าวัดแบบนี้ก็ได้รับความนิยมไม่น้อย ในการทำบุญแบบนี้เขาใช้ชื่อเรียกกันว่า ไหว้พระเก้าวัด

 

ที่จังหวัดพิษณุโลกนั้นมีวัดให้ได้ทำบุญกันมากมายหลายแห่งด้วยกัน แต่หากจะไหว้พระที่อำเภอเมืองพิษณุโลกให้ได้เก้าวัดละก็ เราขอเสนอ เก้าวัดนี้เลย

 

วัดแรก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือ วัดใหญ่ ซึ่งมีพระพุทธชินราช เป็นพระประธานของวัด และเป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดในประเทศไทย องค์พระมีความอ่อนช้อยงดงามมาก เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว สูง 7 ศอก เป็นศิลปะสมัยสุโขทัย สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท เมื่อปี 1900 ทางเข้าพระวิหารด้านหน้ามีบานประตูประดับมุก 1 คู่ สร้างขึ้นเมื่อปี 2299 เป็นฝีมือช่างหลวงสมัยอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

 

เดินเลาะระเบียงคตไปด้านซ้ายมือจะเป็นวิหารพระพุทธชินสีห์ พระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยเดียวกัน ในวิหารพระพุทธชินสีห์นี้เป็นพิพิธภัณฑ์เก็บของเก่าทั้งเครื่องสังฆโลก เครื่องเคลือบ เครื่องประดับมุก ทองเหลือง และอื่นๆ ที่เป็นทั้งของที่ประชาชนทั่วไปนำมามอบให้กับกรมศิลปากร และกรมศิลปากรขัดค้นพบ อีกทั้งยังเป็นสิ่งของที่เป็นเครื่องบรรณาการสำหรับพระมหากษัตริย์ที่ทรงถวายแด่พระพุทธชินราชด้วย

 

หากเลาะระเบียงคตไปทางด้านขวาก็จะเป็นวิหารพระศรีศาสดา ที่วิหารนี้มีของเก่าเก็บไว้เช่นกัน อาทิ ชุดของทหารในสมัยรัตนโกสินทร์ กระจกที่ใช้ในสมัยอยุธยา เป็นต้น ที่สำคัญที่วิหารหลังนี้มีพระพุทธรูปปางต่างๆมากมายเลยทีเดียว ด้านหน้าวิหารพระพุทธชินราชเป็นวิหารพระเหลือ ที่มีความเชื่อกันว่าถ้าได้มาขอพรพระเหลือก็จะมีเงินเหลือเก็บเหลือใช้นั่นเอง

 

ด้านหลังพระวิหารพระพุทธชินราชจะเป็นพระปรางค์และพระอัฏฐารส ที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้นฐานย่อเหลี่ยมไม้สิบสี่ สันนิษฐานว่าเดิมเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือทรงดอกบัวตูม ซึ่งถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยแท้ และต่อมาจึงได้ถูกดัดแปลงให้เป็นพระปรางค์ในสมัยอยุธยา

 

วัดที่สอง วัดโพธิญาณ ก่อนถึงที่ตั้งวัดเราจะต้องผ่านกำแพงเมืองโบราณกันก่อน ระหว่างทางก็จะมีต้นโพธิ์อยู่เรียงราย โดยเชื่อกันว่าต้นโพธิ์ที่เห็นอยู่นี้เป็นต้นโพธิ์ที่ตาปะขาวหาย ผู้ที่เป็นพระอินทร์แปลงกายมาช่วยเททองพระพุทธชินราช ได้โปรยไว้ขณะที่เดินทางกลับหลังหล่อพระพุทธชินราชเสร็จและได้หายไปกับหมู่บ้านเตาไห หรือตาปะขาวหาย นั่นเอง วัดโพธิญาณ เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่จากการสันนิษฐานได้จาก เอกสารทางประวัติศาสตร์ และคำบอกเล่าจากผู้สูงอายุ แผนผังเก่าเมืองพิษณุโลกเอกสารหลักฐานของสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ที่ 5 กรมศิลปากร และจากโบราณสถานวัตถุที่ยังคงเหลืออยู่อาทิเช่น เนินอิฐฐาน เจดีย์, เนินอิฐฐานวิหาร เนินอิฐฐานกำแพงเมืองเก่า และถือว่าเป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งในทาง ประวัติศาสตร์ของเมืองพิษณุโลก เพราะในทางประวัติศาสตร์เมืองพิษณุโลก เคยเป็นเมืองหลวงมาถึง 2 สมัย คือ ในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี รัชกาลของพระยาลิไท และในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี รัชกาลของพระยาลิไท และในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี รัชกาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ได้ยกเมืองพิษณุโลกขึ้นเป็นเมืองหลวงถึง 25 ปี

 

ที่วัดนี้มีพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ คือ พระพุทธรูปสองพี่น้อง เป็นพระพุทธรูปปั้น ขุดพบที่ฐานชุกชีวิหารร้างของวัดโพธิญาณ เมื่อ พ.ศ.2511 และได้ถูกชาวบ้านบางกลุ่มได้แอบลักลอบทุบทำลายองค์พระทั้งสอง เพื่อเอาสิ่งของมีค่าทีซ่อนอยู่ในองค์พระ เช่น พระนางพญาวัดโพธิ์ และพระเครื่องอื่น ๆ อีกจำนวนมากไปทั้งหมด ต่อมาหลวงพ่อเฉลิม คุณราโม อดีตเจ้าวัดอาวาสวัดโพธิญาณ จึงทำการกบูรณะซ่อมแซมพระพุทธรูปทั้งสององค์ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์สวยงามดังเดิม

 

 

วัดที่สาม วัดตาปะขาวหาย ซึ่งเป็นวัดที่มีศาลของตาปะขาวหายอยู่ด้วย เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามากราบไหว้ขอพรกัน อีกทั้งยังมีมณฑปรอบพระพุทธบาท ที่สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเป็นรอยพระพุทธบาทที่ทำมาจากทองเหลือ ที่เหลืออยู่เพียงแห่งในจังหวัดพิษณุโลก ส่วนอีก 3 ที่คือที่วัดจุฬามณี วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และวัดเขาสมอแคลง นั้นเป็นเป้าที่ทำมาจากปูนทั้งสิ้น โดยมณฑปนี้หนึ่งปีจะเปิดให้เข้าชม 2 ครั้ง คือในวันเข้าพรรษาและออกพรรษา โดยจะให้พุทธศาสนิกชนได้เวียนเทียนรอบมณฑปและเข้าไปกราบไหว้ ชื่นชม ความงดงามได้

 

วัดที่สี่ วัดอรัญญิก เป็นวัดที่สร้างขึ้นในแบบสมัยสุโขทัยสำหรับพระสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี วัดนี้มีคูนำล้อมรอบตามคติสมัยสุโขทัย ด้านหลังวิหารมีเจดีย์ใหญ่ทรงลังกาเป็นเจดีย์ประธานของวัด มีช้างล้อมรอบทั้งสี่ทิศและมีเจดีย์บริวารสี่องค์ตั้งอยู่ด้านละมุม ปัจจุบันเหลือเพียงแต่ฐาน

 

วัดที่ห้า วัดเจดีย์ยอดทอง เป็นวัดที่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองพิษณุโลกไปทางเดียวกับวัดอรัญญิก เป็นเจดีย์ดอกบัวตูมศิลปสมัยสุโขทัย เฉพาะยอดทรงดอกบัวตูมเห็นรอยกะเทาะของปูนทำให้เห็นการเสริมยอดโดยการพอกปูนเพิ่มที่ยอดแหลมของดอกบัวตูม เป็นเจดีย์ศิลปะสมัยสุโขทัยที่ยังคงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในพิษณุโลก วัดนี้มีพระพุทธาจารย์โตให้ได้กราบไหว้ขอพรกันด้านในวิหารพระพุทธาจารย์โต ซึ่งอยู่ด้านข้างเจดีย์

 

 

วัดที่หก วัดจุฬามณี เป็นวัดเก่าแก่ที่มีมาก่อนสมัยสุโขทัย โดยเคยเป็นที่ตั้งเมืองพิษณุโลกเดิม และยังเป็นวัดที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงได้สร้างและเสด็จออกผนวชที่วัดนี้เมื่อปี 2007 สิ่งที่สำคัญที่มีค่าสูงทางศิลปะในวัดคือปรางค์แบบขอม ที่ก่อด้วยศิลาแลง นอกจากนี้ยังมีแผ่นศิลาจารึก มณฑป และพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้โปรดฯให้สร้างขึ้น ติดกันนั้นมีวิหารหลวงพ่อเพชรที่เป็นพระพุทธรูปนั่งในท่าขัดสมาธิเพชร

 

วัดที่เจ็ด คือวัดท่ามะปราง เป็นวัดที่มาพระปรางเก่าสมัยอยุธยาหลงเหลือให้ชมและมีอุโบสถที่งดงามคล้ายกับวัดจีน คือมีสีเขียวเป็นสีที่เด่นชัดสุด หน้าอุโบสถ มีกระเบื้องดินเผาลายพระนเรศวร กำลังเล่นชนไก่กับพม่า และเหนือขึ้นไปนั้นก็จะมีรูปพระนเรศวรอุ้มไก่ ภายในอุโบสถมีภาพเรื่องเล่าวรรณคดีพระมหาชนก

 

 

วัดที่แปดคือวัดราชบูรณะ วัดนี้มีจุดให้ทำบุญหลายจุด โดยด้านบนศาลาการเปรียญนั้นมีพระบรมสารีริกธาตุให้ได้กราบไหว้ขอพร อีกทั้งยังมีจุดให้ร่วมบริจาค เช่าบูชาพระ อีกมากมาย วัดราชบูรณะแห่งนี้มีลักษณะพิเศษที่ตัวอุโบสถที่มีลักษณะพิเศษคือ เศียรนาคที่ชายคาเป็นนาค 3 เศียร มีลักษณะอ่อนช้อยงดงาม เชื่อว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

 

 

วัดสุดท้าย วัดที่เก้า วัดนางพญา มีพระพุทธรูปที่เป็นพระประธานคือ พระนางพญาเรือนแก้ว วัดนี้มีชื่อเสียงโด่งดังเรื่องพระเครื่อง โดยมีการขุดค้นพบกรุพระเครื่อง นางพญา ครั้งแรกเมื่อปี 2444 และครั้งหลังเมื่อปี 2497 และผู้ที่มีพระนางพญาไว้บูชานั้นต่างเล่าขานกันต่อๆมาถึงความศักดิ์สิทธิ์ จนทำให้พระนางพญามีชื่อเสียงอย่างมาก

 

 

ไหว้พระจบเก้าวัดส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เพื่อความเป็นสิริมงคลกันแล้ว ในยามคำคืนระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2554 และในวันที่ 1 มกราคม 2555 ทุกวัดในเขตเทศบาลนครพิษณุโลก และเขตติดต่อ เขาได้มีการจัดการสวดมนต์นพเคราะห์เสริมต่อบารมีกันด้วย และในวาระดิถีส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ขอให้ชาวพิษณุโลก แฟน ๆ พิษณุโลกฮอตนิวส์ สุขสมหวังทุกประการ

 

 

แสดงความคิดเห็น