ฟื้นฟูเครื่องปั้นดินเผาบ้านเตาไห อาชีพเก่าแก่ชาวพิษณุโลกเมื่อ 600 ปีก่อน

ชุมชนบ้านเตาไห ต.หัวรอ อ.เมืองพิษณุโลก บริเวณริมฝั่งแม่น้ำน่านติดกับวัดตาปะขาวหาย ในอดีตเมื่อ 600 ปีก่อน ยุคสมัยสุโขทัยตอนปลาย อยุธยาตอนต้น เคยรุ่งโรจน์ด้วยอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผามาก่อน เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่สำคัญของเมืองพิษณุโลก  ปรากฏให้เห็นจากการขุดค้นเตาเผาสมัยโบราณและเครื่องปั้นดินเผาอายุ 600 ปี ปัจจุบัน ปี 2558 ชาวบ้านเตาไห ได้รวมตัวกันตั้งวิสาหกิจชุมชนเครื่องปั้นดินเผาบ้านเตาไห บริเวณหลังวัดตาปะขาวหาย เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาโดยชุมชน ผลิตเครื่องปั้นดินเผาลอกแบบลวดลายในอดีต โดยมีสัญลักษณ์”อุ” เป็นแบรนด์ของเครื่องปั้นดินเผาบ้านเตาไห

จ.ส.อ.จำลอง  ธูปเทียน  ประธานวิสาหกิจชุมชนเครื่องปั้นดินเผาบ้านเตาไห ต.หัวรอ อ.เมือง จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า บ้านเตาไหเป็นชุมชนเก่าแก่ในอดีตอยู่นิมฝั่งแม่น้ำน่านด้านทิศเหนือของตัวเมืองพิษณุโลก สร้างขึ้นมาพร้อม ๆ กับการสร้างเมืองพิษณุโลก ในสมัยพระยาลิไท แห่งกรุงสุโขทัย ในอดีตเป็นชุมชนที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผาส่งออกที่สำคัญของเมืองพิษณุโลก มีการค้นพบเตาเผาโบราณ และเครื่องปั้นดินเผาสมัยก่อนอายุ 600 ปี บริเวณริมแม่น้ำน่านด้านหลังวัดตาปกขาวหายจำนวนหลายเตา

ประมาณปี 2550 สภาวัฒนธรรมตำบลหัวรอ โรงเรียนวัดตาปะขาวหาย และมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จ.พิษณุโลก ได้ทำความร่วมมือกันในการค้นหาอัตลักษณ์พัฒนาวัฒนธรรมของชาวบ้านเตาไห กระทั่งปี 2558 จึงได้แนวคิดว่า การฟื้นฟู ผลิตเครื่องปั้นดินเผาบ้านเตาไหขึ้นมาใหม่ จะเป็นการพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืนให้ชุมชน จึงรวมตัวกันตั้งวิสาหกิจชุมชนเครื่องปั้นดินเผาบ้านเตาไหขึ้นมา จากเดิมใช้ที่ทำงานภายในวัดตาปะขาวหาย ปัจจุบัน มีการก่อสร้างที่ทำการของตนเอง ริมแม่น้ำน่าน ด้านหลังวัดตาปะขาวหาย ใกล้กับโบราณสถานเตาเผาโบราณที่กรมศิลปากรขุดค้นพบ

จ.ส.อ.จำลอง เปิดเผยต่อว่า วิสาหกิจชุมชนเครื่องปั้นดินเผาบ้านเตาไห มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุในตำบลหัวรอ ได้รับการถ่ายทอดวิชาการ เทคโนโลลีการผลิตเครื่องปั้นดินเผา รวมถึงสนับสนุนอุปกรณ์ เตาเผา แม่พิมพ์ และติดตามเป็นพี่เลี้ยง จากอาจารย์คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาวิชาเซรามิกซ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ในทุก ๆ วัน สมาชิก จะมาร่วมกันผลิตเครื่องปั้นดินเผาหลากหลายชนิด อาทิ ถ้วยกาแฟ กระถางต้นไม้ เครื่องประดับ และนำผลิตภัณฑ์ไปออกจำหน่ายตามงานต่าง ๆ ของพิษณุโลก อาทิ ตลาดวัฒนธรรมทุกวันอาทิตย์ที่วัดราชบูรณะ และจะเตรียมไปล่าสุดคือ งานอนุรักษ์วัฒนธรรมเสน่ห์สองแคว แลอดีต ที่พระราชวังัจนทน์ 2-4 เมษายนนี้ เมื่อมีรายได้ จะใช้การบริหารจัดการปันผลให้กับสมาชิกที่มาร่วมผลิต

สำหรับกระบวนการผลิตนั้น ได้รับการสนุบสนุนเครื่องมือสำคัญจากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม อาทิ เครื่องกวนส่วนผสมของดิน แม่พิมพ์สำหรับหล่อขึ้นรูปถ้วย แก้ว ชาม เตาเผาความร้อน 1,200 องศาเซลเซียส มูลค่าแสนกว่าบาท โดยมีสมาชิก มาทำงานตามหน้าที่รับผิดชอบกัน ตั้งแต่ชั้นตอนการผสมดิน การหล่อแม่พิมพ์ การขัดเก็บรายละเอียด การเคลือบสี และกระบวนการเผา มีอาจารย์จากม.ราชภัฏฯมาช่วยดูแลด้านเทคนิคต่าง ๆ

นายวิมล  ทองดอนกลิ้ง  อาจารย์สาขาเซรามิกซ์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ม.ราชภัฏบูลสงคราม จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า เป็นงานบริการวิชาการ เป็นพันธกิจของมหาวิทยาลัยที่ต้องดูแลชุมชน ท้องถิ่น ถ่ายทอดความรู้ ให้ชุมชนอยู่ได้ มีรายได้อย่างยั่งยืน ทำมาต่อเนื่อง 10 กว่าปีแล้ว เริ่มจากการวิจัยในโรงเรียนวัดตาปะขาวหาย และความร่วมมือของชุมชน กระทั่งปัจจุบันมีการตั้งกลุ่มวิสาหกิจ มีอาคารของตนเอง ชาวบ้านเริ่มผลิตได้ด้วยตัวเอง เราคอยดูอยู่ห่าง ๆ และมาเติมเทคโนโลยีให้ อาทิ วัตถุดิบ เทคโนโลยีการผลิตในทุกกระบวนการ ปัจจุบันก็เริ่มสามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองทั้งหมด ถ้ามีปัญหาอะไร เราก็จะเข้ามาสอน เช่น น้ำดินไม่ไหลตัว การเผาเคลือบให้สมบูรณ์

เราได้วางระบบให้กลุ่ม มีแผนกต่าง ๆ อาทิ มีการแบ่งไลน์การผลิต การทำบัญชี การทำตลาด ที่เริ่มมีการตอบรับที่ดี เชื่อว่าในอนาคตจะไปได้ เพราะมีเอกลักษณ์ของตัวเอง มีเรื่องราวของการผลิตเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณ ที่ถูกค้นพบ นำลวดลาย”อุ” ที่ค้นพบในเครื่องปั้นดินเผาโบราณมาเป็นแบรนด์  เป็นความเชื่อโบราณที่เป็นมงคลในชีวิต มีการอิงประวัติศาสตร์ และจะต้องมีกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตเมื่อมีนักท่องเที่ยวมาชม ณ ที่ทำการ จะได้เห็นขั้นตอนการผลิต จะช่วยเสริมความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยวและตัวผลิตภัณฑ์

…………………………………………………………………………..

แสดงความคิดเห็น