ย้อนรอยภูหินร่องกล้าตอน 2 จุดยุทธภูมิสู่แหล่งท่องเที่ยว โดยเสือ ภูลมโล

ย้อนรอยภูหินร่องกล้าตอน 2 จุดยุทธภูมิกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยเสือ ภูลมโล  30 มิ.ย.61   

ตามที่นักท่องเที่ยวหลายท่านที่รู้จักแหล่งท่องเที่ยวของภูหินร่องกล้าแล้วนั้น ผู้เขียนขอแนะนำสถานที่ต่างๆที่หลายท่านได้รู้จักกันไว้แล้ว เช่นโรงเรียนการเมืองการทหาร โรงเรียนการเมืองการทหารคือสถานที่ฝึกอบรมและเรียนรู้ลัทธิทางการเมืองในระบอบคอมมิวนิสต์และเป็นกองบัญชาการระดับผู้นำ ระดับหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ และทำการสอนทั้งวิชาทหารรวมถึงวิชาแพทย์ด้วย ส่วนการเรียนการสอนเป็นการสอนแบบขั้นกลางไม่ได้เป็นขั้นสูงสุดโดยแบ่งออกเป็นฝ่ายอย่างมีระเบียบ ฝ่ายการเมืองฝ่ายการทหารฝ่ายพลาธิการ ฝ่ายพยาบาลโรงเรียนการเมืองการทหารเปรียบเสมือนเป็นศูนย์กลางทางความคิด บ้านแต่ละหลังจะสร้างขึ้นอย่าเรียบง่ายโดยใช้วัสดุตามธรรมชาติในอดีตมีเรือนแถวไว้เป็นที่พักของนักเรียนหญิงนักเรียนชาย อยู่สองฝั่งพอถึงปีพ.ศ.2524 ไม่มีผู้มาเข้าร่วมเรือนแถวได้พังไป ทางผู้นำพรรคฯจึงได้ปรับเปลี่ยนให้เป็นที่พักของหน่วยทหารมีชื่อว่ากองร้อย 965  มีสหายคำเพชร (นาย วิสุทธิ์ ) ไม่ทราบนามสกุล เกิดที่จ.พัทลุง เป็นหัวหน้า

(โรงพยาบาลรัฐ)

โรงพยาบาลรัฐนั้น เป็นโรงพยาบาลรัฐของพรรคคอมมิวนิสต์  ย้ายมาจากโซนบนของภูหินร่องกล้ามาตั้งขึ้นใหม่หลังลานหินปุ่มเมื่อปีพ.ศ. 2519 มีหมอทั้งหมด 6 คน หมอ สาน (ไทย)เป็นหัวหน้า หมอพรรณนา(ไทย)  หมอวารี(ม้ง)  หมอกันยา (ม้ง) หมอพิทักษ์ (ม้ง) และมีพยาบาลอีก 24 คน ที่โรงพยาบาลทำการรักษาทุกโรค ผ่าตัดได้ทุกส่วน ยกเว้นหัวใจ สมอง หมอทุกคนจบหลักสูตรเร่งรัดมาจากประเทศจีน ปัจจุบันโรงพยาบาลถูกไฟป่าไหม้เมื่อปี 2528  อุปกรณ์การแพทย์จากประเทศจีนที่ให้การสนับสนุน ได้นำมาเก็บไว้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

(สำนักอำนาจรัฐ)

สำนักอำนาจรัฐเป็นส่วนที่ทำการ ศูนย์การปกครองระดับท้องถิ่น มีสิ่งปลูกสร้างคล้ายกับโรงเรียนการเมือง มีคุกไว้ขังผู้ที่ทำความผิดด้วยสำนักอำนาจรัฐมีฐานะเทียบเท่ากับอำเภอหรือจังหวัดแต่ขึ้นตรงกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2520  มีสหาย ณรงค์ เป็นประธานรัฐ(ม้ง) ชื่อจริงนาย ยูแม   แซ่หว้า ปัจจุบันปี พ.ศ.(2557)อยู่บ้านน้ำจวงอำเภอชาติตระการจังหวัดพิษณุโลก สำนักอำนาจรัฐแห่งนี้ได้แบ่งออกเป็นส่วนเช่นกัน ฝ่าย การเมืองฝ่ายการทหารฝ่ายการปกครองฝ่ายเศรษฐกิจ ฝ่ายวัฒนธรรม ฝ่ายกีฬา ฝ่ายบันเทิงฝ่ายสาธารณสุข  มีทุกฝ่ายคล้ายกับจังหวัด แต่แล้วทางอำนาจรัฐไม่สามารถดำเนินงานด้านฝ่ายอื่นได้นอกจากการรบเท่านั้น เพราะมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาฐานที่มั่นไม่มีโอกาสที่จะไปดูแลประชาชนของตน  ที่ตั้งสำนักอำนาจรัฐอยู่ในยุทธภูมิที่ดี มีถ้ำไว้หลบภัยมีทางเข้าออกเพียงทางเดียว เอกสารจำนวนมากที่พบในสำนักอำนาจรัฐ

(ลานหินแตก)

ลานหินแตกมีชื่อเดิมที่ชาวม้งและคนในท้องถิ่นเรียกกันว่าร่องกล้าใหญ่ เพราะเป็นลานหินที่มีร่องขนาดใหญ่และร่องมากที่สุด มีความกว้างประมาณ 40 ไร่ พรรคคอมวมิวนิสต์ใช้เป็นที่หลบซ่อนรวมถึงการหลบระเบิดจากทางอากาศด้วย ในปีพ.ศ.2515 ทหารฝ่ายรัฐบาลเคยปะทะกับฝ่าย พคท.ในยุทธการภูขวางหลายวันติดต่อกัน จึงสามารถเรียกลานหินแตกว่าลานเลือด

(ลานหินปุ่ม)

ลานหินปุ่มอยู่ด้านบนขึ้นไปจากลานหินแตก ก็เรียกกันว่าร่องกล้าใหญ่เช่นเดียวกัน เป็นลานหินที่อยู่ในแนวหน้าผามีอากาศบริสุทธิ์เกิดขึ้นตามธรรมชาติ พคท.ใช้เป็นที่พักผ่อนของผู้ป่วยเพราะอยู่ใกล้โรงพยาบาลของพรรคฯ และเป็นที่ตรวจการณ์

(ผาชูธง)

ผาชูธงอยู่ถัดกันไปจากลานหินปุ่มห่างจากลานหินปุ่ม 600 เมตร เป็นหน้าผาที่มีจุดเด่นสามารถมองจากด้านล้างได้อย่างชัดเจนทหารของ พคท.เคยนำธงสีแดงรูปฆ้อนเคียวเป็นสัญญาลักษณ์ขึ้นไปชูเป็นการแสดงชัยชนะ เมื่อหลังจากการปะทะกันกับทหารฝ่ายรัฐบาล จึงได้เรียกกันว่า ผาชูธง                  

 

……………………………….

 ( พิษณุโลกฮอตนิวส์  นำเสนอผลงานเขียนของพี่เสือ  ภูลมโล หรือ คุณมนัส  สีเสือ จนท.ประชาสัมพันธ์อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ผู้มีประสบการณ์และความทรงจำในการปฏิบัติหน้าที่ทหารพราน เมื่อครั้งยังมีการต่อสู้ทางอุดมการณ์และอาวุธระหว่างรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยบนภูหินร่องกล้า จนล่วงเลยผ่านมาสู่การปฏิบัติหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า ให้ข้อมูล และนำเที่ยวภูหินร่องกล้า สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติยอดนิยมของจ.พิษณุโลก พี่เสือ ภูลมโล ได้บันทึกความทรงจำไว้หลายเหตุการณ์อย่างน่าสนใจ จะนำเสนอเป็นเรื่องราวต่อเนื่อง จำนวน 9 ตอน บนเว็ปไซด์พิษณุโลกฮอตนิวส์ )

อ่านบทความเดิม ย้อนรอยภูหินร่องกล้าตอน 1  …..23 มิ.ย. 2561

ย้อนรอยภูหินร่องกล้าตอน 1 พรรคคอมมิวนิสต์แทรกซึม…โดยเสือ ภูลมโล

…………………………………………………

 

แสดงความคิดเห็น