วัดบ้านบึงสืบสานงานบุญจุลกฐินจากเมล็ดฝ้ายสู่ไตรจีวร

พิษณุโลก วัดบ้านบึงสืบสานตำนานจากเมล็ดฝ้ายสู่ไตรจีวรท้อฝ้ายเป็นสายบุญจุลกฐินสร้างความสามัคคีในชุมชน
วันที่ 19 สิงหาคม 2561 เวลา 14.00 น. วัดบ้านบึง ตำบลศรีภิรมย์ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก พระอธิการสมบัติ เขมวีโร เจ้าอาวาสวัดบ้านบึง พร้อมพุทธศาสนิกชนร่วมปลูกต้นฝ้ายสืบสานตำนานจากเมล็ดฝ้ายสู่ไตรจีวรท้อฝ้ายเป็นสายบุญจุลกฐิน  โดยมีกำหนดอผ้าในวันที่ 17 ถึง 18 พฤษจิกายน 2561 จุลกฐิน” คือ คำเรียกการทอดกฐินที่ต้องทำด้วยความรีบด่วน โดยอาศัยความสามัคคีของผู้ศรัทธาจำนวนมาก เพื่อผลิตผ้าไตรจีวรให้สำเร็จด้วยมือภายในวันเดียว กล่าวคือ ต้องเริ่มตั้งแต่เก็บฝ้าย ตัดเย็บ ย้อม และถวายให้พระสงฆ์กรานกฐินให้เสร็จภายในเวลาเช้าวันหนึ่งจนถึงย่ำรุ่งของอีกวันหนึ่ง ดังนั้นโบราณจึงนับถือกันว่าการทำจุลกฐินมีอานิสงส์มากยิ่งนัก เพราะต้องใช้ความอุตสาหพยายามมากกว่ากฐินแบบธรรมดา (มหากฐิน) ภายในระยะเวลาอันจำกัด โดยจุลกฐินนี้ ปัจจุบันมักจัดเป็นงานใหญ่ มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
ประเพณีการทอดจุลกฐินนี้ เป็นประเพณีที่พบเฉพาะในประเทศไทยและลาว ไม่ปรากฏประเพณีการทอดกฐินชนิดนี้ในประเทศพุทธเถรวาทประเทศอื่น สำหรับประเทศไทยมีหลักฐานว่า มีการทอดจุลกฐินมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า หน้า 268 ว่า “ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 โปรดให้ทำจุลกฐิน”
ปัจจุบันประเพณีการทำจุลกฐินนิยมทำกันเฉพาะชุมชนทางภาคเหนือและอีสานเท่านั้น โดยอีสานจะเรียกกฐินชนิดนี้ว่า “กฐินแล่น” (จุลกฐินไม่ใช่ศัพท์ที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก) เค้ามูลของการทำจีวรให้เสร็จในวันเดียวปรากฏหลักฐานในคัมภีร์อรรถกถา กล่าวถึงเรื่องที่พระพุทธเจ้ารับสั่งให้คณะสงฆ์ในวัดพระเชตะวัน ร่วมมือกันทำผ้าไตรจีวรเพื่อถวายแก่พระอนุรุทธะ ผู้มีจีวรเก่าใช้การเกือบไม่ได้แล้ว โดยในครั้งนั้นเป็นงานใหญ่ ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาทรงช่วยการทำไตรจีวรด้วย โดยทรงรับหน้าที่สนเข็มในการทำจีวรครั้งนี้ด้วย
สาเหตุประการหนึ่งที่มีการทำจุลกฐิน เนื่องมาจากกำหนดการกรานกฐินนั้นมีระยะเวลาจำกัด และพระสงฆ์ไม่สามารถขวนขวายดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผ้ากฐินเองได้ เพราะจะทำให้กฐินเดาะ (สังฆกรรมเสีย) จึงอาจมีบางวัดที่ใกล้กำหนดหมดฤดูกฐินแต่ยังไม่มีผู้นำกฐินมาถวาย ทำให้ในสมัยก่อนเมื่อใกล้เดือน 12 (หมดฤดูกฐิน) มักจะมีผู้ศรัทธาตระเวนไปตามวัดต่างๆ เมื่อเจอวัดที่ยังไม่ได้รับถวายผ้ากฐิน จึงต้องเร่งรีบขวนขวายจัดการทำผ้ากฐินให้เสร็จทันฤดูกฐินหมด ซึ่งบางครั้งอาจเหลือเวลาแค่วันเดียว จึงต้องอาศัยความร่วมมือของคนทั้งชุมชน ในการร่วมกันจัดทำผ้าไตรจีวรให้สำเร็จก่อนหมดฤดูกฐิน (เพราะสมัยก่อนไม่มีผ้าไตรจีวรสำเร็จรูปขาย) การร่วมมือกันจัดทำจุลกฐินดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสร้างความสามัคคีของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี
ภาพ/ข่าว นายวัฒนพร อัครชินพรรณ รายงาน

แสดงความคิดเห็น