ชาวนาอ.บางระกำระดมสูบน้ำเร่งปลูกข้าวให้เสร็จในเดือนเม.ย. ขณะที่แหล่งน้ำเริ่มแห้งเหือด

สถานการณ์ภัยแล้งขยายวงกว้าง ปริมาณน้ำในเขื่อนลดลง ส่งผลให้ชลประทาน ต้องส่งน้ำในพื้นที่บางระกำโมเดล ที่ชาวนาต้องทำนาก่อนในฤดูน้ำหลาก เพื่อปรับให้เป็นพื้นที่รับน้ำแทน ชลประทานต้องจัดรอบเวรในการส่งน้ำเพื่อให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ แต่ส่งในปริมาณน้ำที่วันละ 9 ล้าน ลบ.ม.น้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา ที่จัดส่งน้ำถึง 25-30 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ชาวนาอ.บางระกำ ต่างเร่งสูบน้ำจากแม่น้ำยม คลองสาขา และลงทุนเจาะบ่อบาดาลเพิ่ม เพื่อปลูกข้าวให้เสร็จในเดือนเมษายนนี้ จะได้เก็บเกี่ยวก่อนน้ำจะหลากมาท่วมในเดือนสิงหาคม

นายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการชลประทานจังหวัดพิษณุโลก กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ว่า หลังจากสถานการณ์ภัยแล้งขยายวงกว้าง ปริมาณน้ำในเขื่อนสิริกิต์น้อยลง ทำให้แผนการบริหารจัดการน้ำที่ปล่อยลงส่งพื้นที่ชลประทาน ได้ลดลงเช่นกัน ส่งผลให้น้ำที่ไหลเข้าสู่แม่น้ำน่านน้อยลงเช่นกัน และกระทบต่อการส่งน้ำในพื้นที่บางระกำโมเดล ที่ชาวนาต้องทำนาก่อนในฤดูน้ำหลาก เพื่อปรับให้เป็นพื้นที่รับน้ำแทน ซึ่งปี้นี้ชลประทานต้องจัดรอบเวรในการส่งน้ำเพื่อให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ แต่ด้วยสภาพแห้งแล้ง แม่น้ำยมทั้งสายเก่าและสายใหม่ ต่างแห้งขอดเป็นช่วงๆ ทำให้น้ำไหลไม่เพียงพอ ทางชลประทาน ก็ได้นำเครื่องสูบน้ำไปช่วยชาวนาในการผลักดันน้ำให้ทั่วถึง แต่ด้วยปริมาณน้ำที่น้อยในปีนี้ทางชลประทานได้จัดสรรส่งน้ำจากเขื่อน  ได้เพียงวันละ 9 ล้าน ลบ.ม.น้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา ที่จัดส่งน้ำถึง 25-30 ล้าน ลบ.ม.

ในขณะที่แม่น้ำยม ที่เชื่อมต่อจากสุโขทัย มีปริมาณน้ำที่น้อยมาก บางช่วงก็ไม่มีน้ำเลย ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่บางระกำโมเดล มีน้ำไม่เพียงต่อในการทำนา ที่มีจำนวนถึง 265,000 ไร่ ชาวนาหลายรายต้องใช้วิธีขุดบ่อบาดาลสูบน้ำทำนาด้วยตนเอง  ด้านนางสายหยุด แสงคำ อายุ 61 ปี อยู่บ้านเลขที่ 150 ม.3 บ้านวังแร่ ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ได้บอกว่าปีนี้ สภาพน้ำแห้งแล้งหนัก ตนทำนาได้ 10 ไร่ ใช้วิธีดึงน้ำจากคลองบางแก้วเข้ามา ซึ่งน้ำก็มีน้อยเต็มที จะใช้น้ำมันดึงบ่อบาดาลอย่างเดียวก็ไม่ไหว ช่วงนี้ฝนทิ้งช่วง ถึงจะตกก็ไม่ตกตรงที่นาเรา ล่าสุดข้าวราคาดีตอนนี้ราคาพุ่งไปตันละ 9,000 บาทแล้ว แต่กลับไม่มีข้าวขาย ก็ต้องลุ้นทำกันไปเรามันอาชีพชาวนา หนีไปไหนได้มันก็ต้องทำ แล้วที่ตรงนี้เป็นแอ่งกระทะ พอถึงหน้าฝน ตรงนี้น้ำก็จะท่วมก่อนเขาถ้าไม่ทำตอนนี้ก็จะไม่ทันได้เก็บเกี่ยว

ขณะที่นายมนูญ บัวเล็ก อายุ 40 ปี ชาวนา ม.2 บ้านชุมแสงสงคราม ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่าตนทำนาอยู่ 5 ไร่เศษ ต้องรวมเงินกับชาวบ้านที่มีนาใกล้เคียงกัน ไร่ละ 100 บาท เพื่อซื้อน้ำมันมาดึงน้ำแม่น้ำยมขึ้นมา แล้วทอยน้ำเข้ามาทำนาอีกที แต่น้ำก็ยังมาไม่เยอะ เพราะเขาปล่อยมาน้อย บางแปลงก็ไม่ได้ทำทิ้งให้ดินแห้งเพราะหาน้ำไม่ได้ ถึงแม้ช่วงนี้ราคาน้ำมันถูกลง แต่ยังใช้ต้นทุนเยอะอยู่ในการดึงน้ำแต่ละครั้ง และคิดว่าน้ำไม่น่าพอตลอดจนทำนา ก็คงต้องเสี่ยงดึงบ่อบาดาลถ้าดึงน้ำจากแม่น้ำไม่ได้แล้ว

ด้านนางหนูจันทร์ เพชรหมัด อายุ 47 ปี ชาวนา ม.2 ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ได้บอกว่า ตนทำ30 ไร่ วันนี้เพื่อนบ้านมาช่วยลงแรงใช้เครื่องพ่นเมล็ดข้าว เร่งมือให้ทันก่อนสิ้นเดือนนี้ เพราะถ้าไม่ลงมือปลูกภายในเดือนนี้ เดือนสิงหาคม เขาก็ปล่อยน้ำมาตรงนี้ก็จะท่วมหมดเป็นแบบนี้ทุกปี ปีนี้จึงตัดสินใจกู้เงินมาประมาณ 3 แสน เจาะบ่อซับเมอร์ส ติดหม้อแปลงแยกต่างหาก เพื่อที่จะใช้ดึงน้ำบาดาลมาทำนาให้ทันก่อนฤดูฝนที่จะมาถึงนี้

/////////

 

แสดงความคิดเห็น