ที่ปรึกษารมว.กระทรวงอุดมศึกษาฯ ตรวจความพร้อมโรงพยาบาลสนามม.นเรศวร

 เมื่อเวลา  13.30 น.ของวันที่  23 เม.ย.2564  รศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  นายพิศิษฐ์ กิจบุญอนันต์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก   ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมโรงพยาบาลสนาม    (NU Hospitel) ในเฟสแรก จำนวน 130 เตียง โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ รองอธิการบดี  (กำกับดูแลงานกิจการนิสิต)   ศาสตราจารย์ นายแพทย์    ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงรสสุคนธ์ คชรัตน์ รองคณบดีฝ่ายการแพทย์ ให้การต้อนรับ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์    ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์  กล่าวว่า ความพร้อมของมหาวิทยาลัยนเรศวรในการดูแลนิสิต บุคลากร และประชาชน ในเขตพื้นที่รอบมหาวิทยาลัย ทางมหาวิทยาลัยมีความพร้อมทุกด้าน โดยมหาวิทยาลัยนเรศวรมีศักยภาพในการรองรับผู้ติดเชื้อ COVID-19 ใน 3 ส่วนได้แก่

1.หอผู้ป่วยรวมชนิดแรงดันลบ (Cohort Ward) ที่หอผู้ป่วยชั้น 5 อาคารสิรินธร โดยใช้ห้องแรงดันลบ (Negative Pressure Room) มีจำนวน  8 ห้อง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมากต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด โดยนำเทคโนโลยีไร้สาย IoT (Internet of things) มาใช้ในการบันทึกการวัดสัญญาณชีพ แบบทันที ต่อเนื่อง จากห้องผู้ป่วย พร้อมเชื่อมโยงกับระบบ Telemedicine เพื่อให้แพทย์ พยาบาลสามารถดูข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ป่วยได้แบบปัจจุบัน (Real time) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

2.โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยนเรศวร (Naresuan University Field Hospital) ณ บริเวณ ชั้น  1 อาคารฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยนเรศวร  (ด้านหน้ามหาวิทยาลัยนเรศวร) ซึ่งมีคุณภาพของห้องเกือบเทียบเท่าหอผู้ป่วยรวมชนิดแรงดันลบ (Cohort Ward) ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิศวกรรมศาสตร์มาช่วยออกแบบคุณสมบัติ และกำกับดูแลคุณภาพการก่อสร้าง สามารถรองรับผู้ป่วยจำนวน 20 เตียง แบ่งเป็นหอผู้ป่วย ชาย 10 คน หอผู้ป่วยหญิง 10 คน ภายในติดตั้งกล้องวงจรปิด มีห้องตรวจติดตามอาการผู้ป่วยกลาง (Central Patient Monitoring Station) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการคงที่

3.NU Hospitel มหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับความร่วมมือจากจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง  ปรับปรุงหอพักนิสิต  จำนวน 1 หลัง  สามารถรองรับได้  จำนวน 130 เตียง      สำหรับผู้ป่วยที่อาการดี ในส่วนหอพักนี้เมื่อใช้งานแล้วเสร็จ จะมีการพ่นทำความสะอาดฆ่าเชื้อตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยสำหรับนิสิตที่จะเข้าพักต่อไป

ด้านรศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  กล่าวว่า วันนี้ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้มาตรวจความพร้อมในการเปิดโรงพยาบาลสนามของมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าทั้งประเทศมีมหาวิทยาลัยเปิดเป็นโรงพยาบาลสนาม รองรับได้ถึง 11,600 เตียง และขณะนี้มีผู้ป่วยเข้าไปรักษาแล้ว กว่า  8,000 เตียง ซึ่งจากการตรวจสอบที่มหาวิทยาลัยนเรศวรที่จัดเตรียมโรงพยาบาลสนาม นั้นมีความพร้อมดีเยี่ยม มีการจัดสถานที่เป็นสัดส่วนให้ผู้ป่วยที่จะเริ่มเข้ามาในวันจันทร์ จะถึงนี้

//////////////

 

แสดงความคิดเห็น