แตงกวาญี่ปุ่นกางมุ้งต้นแบบการทำเกษตร “ตลาดนำการผลิต”

พิษณุโลก แตงกวาญี่ปุ่นกางมุ้ง บ้านห้วยไผ่ ต.วังนกแอ่น อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ต้นแบบการทำเกษตรแบบ “ตลาดนำการผลิต” ปลูกพืชที่ตลาดมีความต้องการสูง ลดการใช้สารเคมีโดยการทำ GAP เพื่อยกระดับผลผลิต ลดต้นทุนการผลิต ผู้บริโภคปลอดภัย และสามารถสร้างรายได้ให้อย่างงาม

วันที่ 10 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวพาไปดูการทำการเกษตรแบบผสมผสาน บนพื้นที่ สปก.ในพื้นที่ ม.9 บ้านห้วยไผ่ ต.วังนกแอ่น อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ที่เน้น “ตลาดนำการผลิต” อย่างการปลูกแตงกวาญี่ปุ่นกางมุ้ง(โรงเรือน) ลดการใช้สารเคมีโดยการทำ GAP ลดต้นทุนในการผลิต ผู้บริโภคปลอดภัย เกษตรกรผู้ปลูกเองก็ปลอดภัย 1 ปีสามารถปลูกได้ 4-5 รอบ แต่ละรอบสร้างรายได้หลักหมื่น เป็นทางเลือกของเกษตรกร

นายเอกชัย น้ำจันทร์ อายุ 49 ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 (บ้านห้วยไผ่)อยู่บ้านเลขที่ 45/5 ม.9 ต.วังนกแอ่น อ.วังทอง จ.พิษณุโลก อยู่ในโครงการเกษตรกรแปลงใหญ่พืชผักบ้านห้วยไผ่ เปิดเผยว่า ตนเองเป็นเจ้าของแปลงปลูกแตงกวาญี่ปุ่นในโรงเรือนกางมุ้งโดยได้รับการจัดสรรที่ดินจาก สปก.ปัจจุบันพื้นที่ 15 ไร่  ปลูกพืชผักผลไม้หลากหลาย ส่วนหนึ่งที่ทำรายได้อย่างงอกงามคือ การปลูกแตงกวาญี่ปุ่นในโรงเรือนกางมุ้ง จำนวน 5 โรงเรือน ซึ่งเป็นการทำการเกษตรแบบปราณีต และเป็นรูปแบบ “ตลาดนำการผลิต” ตนเองปลูกแตงกวาญี่ปุ่นตามแผนการตลาดที่อยู่ในเครือข่ายของโครงการหลวงในราคาประกันและผลิตส่งให้แม็คโคร ท๊อปซุปเปอร์มาเก็ต ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 25-35 บาท ซึ่งขึ้นห้างจะมีสเปคขนาดที่เขาต้องการแต่เขาจะซื้อเหมาเราตลอดทั้งปี และส่วนหนึ่งนำไปวางขายที่ตลาดนัดชุมชนร่วมใจ(ปั้ม ปตท.ตรงข้ามกรมรบพิเศษที่ 4 ค่ายสฤษดิ์เสนา) ถ้าเป็นตามชุมชนเราจะขายกิโลกรัมละ 20 บาท เริ่มขยายพื้นที่

แตงกวาญี่ปุ่นเป็นพืชตัวใหม่ที่ตลาดกำลังต้องการเป็นพืชที่ใช้พื้นที่น้อยแต่ได้ผลผลิต คุ้มทุน เราทำการผลิตแบบ “ตลาดนำการผลิต” คือปลูกแล้วมีตลาดขาย รายได้อยู่ในเกณฑ์ดี 1 ปีเราสามารถปลูกได้ 4-5 รอบ รายได้ก็ประมาณหมื่นกว่าบาทต่อรอบ เกษตรกรอยู่ได้ วิธีการปลูกแตงกว่าญี่ปุ่นเป็นพืชที่ต้องใช้ความประณีต ตนศึกษาจาก หัวหน้ายุทธศาสตร์ของ สปก. และจะทำการประสานกับโครงการหลวง ศึกษาดูงาน ทำให้เรามีองค์ความรู้แล้วก็มาประยุกต์กับพื้นที่ของเรา เพราะว่าแต่ละพื้นที่อากาศไม่เหมือนกันและในทุกๆเดือนอากาศก็ไม่เหมือนกัน ตอนนี้มีลูกแปลงอยู่ประมาณ 3-4 ราย ก็ทดลองทำกันลองผิดลองถูกแต่ที่แน่ๆการปลูกแบบกางมุ้งหรือโรงเรือนดีกว่าการไปปลูกนอกโรงเรือน เพราะศัตรูพืชเยอะ น้ำเยอะเกิน ฝนตก ก็ไม่ดี การทำนอกโรงเรือนมันบีบให้เราต้องใช้สารเคมีกันส่วนใหญ่ เพราะแตงกว่าเป็นพืชที่อ่อนไหวต่อโรคและสภาพอากาศ หากใช้สารเคมีกัน ผู้บริโภคทานเข้าไปมันก็สะสม เพื่อให้ได้ผลผลิต แต่การปลูกในโรงเรือน เราลดการใช้สารเคมีโดยการทำ GAP ทำให้เราสามารถลดค่าใช้จ่ายในการใช้สารเคมีไปได้ และอีกอย่างในโรงเรือนเราสามารถปลูกพืชผักประเภทอื่นแซมไปด้วยได้ โดยเฉพาะผักกินใบอย่าง กวางตุ้ง หรือมะเขือเทศราชินี  ผักเหล่านี้ตลาดมีความต้องการมาก ประกอบกับในพื้นที่นอกจากโรงเรือนแล้วเรายังปลูกพืชผักประเภทอื่นได้หลากหลายทำให้เราสามารถมีรายได้ตลอดทั้งปี

สำหรับแปลงปลูกแตงกวาญี่ปุ่นในโรงเรือนกางมุ้งเป็นระบบน้ำหยด ปลูกในวัสดุเพาะ (substrate culture)  และมีการตัดแต่งใบเพื่อให้ผลผลิตออกสม่ำเสมอและมีคุณภาพ ปลูกครั้งหนึ่งใน1 โรงเรือนได้ผลผลิต 1,080 กก. รอบการผลิต 70 วัน 1 โรงเรือนมีรายได้ 20,000 บาท (ใน1ปี สามารถปลูกได้ 3-4 รอบ)

นอกจากนี้จัดสรรพื้นที่เลี้ยงปลา เลี้ยงแกะ เลี้ยงม้า ให้เป็นเกษตรผสมผสาน เราสามารถตัดหญ้าให้แกะ ให้ม้า แล้วนำมูลแกะมูลม้ามาทำปุ๋ยต่อ เศษผักที่เราปลูกก็นำ มาเลี้ยงปลา ส่วนน้ำที่ใช้เป็นน้ำบาลดาลที่ เจาะแล้วน้ำผุดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ เราปล่อยให้เป็นลักษณะน้ำล้น เราจัดสรรน้ำไปตามทิศทางที่ต้องการ ที่ปลูกผัก กักเก็บไว้ในสระ และซึมลงกลับไปใต้ดิน พื้นที่รอบนอกจากโรงเรือน จัดสรรปลูกผลไม้ ถั่วฟักยาว กระเจี๊ยบ กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาการปลูกเป็นอินทรีย์ 100%

นางสาวอมรรัตน์ แขวงโสภา ปฏิรูปที่ดินจังหวัดพิษณุโลก ลงพื้นที่ติดตามแปลงปลูกของเกษตรกร เปิดเผยว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดพิษณุโลก มีการสนับสนุนองค์ความรู้ในการกระบวนการผลิต การดูแล การเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ และการตลาด นอกเหนือจากการจัดสรรที่ดินทำกิน อีกทั้งยังมีการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชตามหลักการเกษตรนำการผลิต พร้อมยกระดับให้มีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีที่เหมาะสม (GAP) เพื่อสามารถขยายตลาดได้อีกด้วย

////////////////////

 

แสดงความคิดเห็น