สัมผัสน้ำตก “ไอหมอก” ความงามใจกลางหุบเขาบ้านรักไทย

วันนี้ ( 22 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ บ้านรักไทย หมู่ 7 ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ในช่วงนี้ธรรมชาติสมบูรณ์อย่างมาก ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวต่างมีความสวยงาม โดยเฉพาะน้ำตกไอหมอก ที่มีความสวยงามเหมือนม่านน้ำตกขนาดใหญ่ ที่มีสายน้ำไหลลงสู่โขดหิน เล็กใหญ่ สลับกันไป และคงความเป็นธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์  ถูกซ้อนอยู่กลางหุบเขาบ้านรักไทย

นายบุญเชิด คำแก้ว ประธานท่องเที่ยวทุ่งโนนสน บ้านรักไทย กล่าวว่า   น้ำตกไอหมอกแห่งนี้ ชาวบ้านในหมู่บ้านได้มีการค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2525 น้ำตกแห่งที่ยังไม่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากนัก จึงยังขาดสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งในเรื่องของป้ายบอกทาง หรือเส้นทางลงไปยังน้ำตกยังไม่ได้มีการพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยว ซึ่งกับความสวยงามที่ยังคงความบริสุทธิ์ กลางหุบเขาแห่งบ้านรักไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน น้ำตกไอหมอก จะมีปริมาณได้ไหลลดหลั่นไปตามชั้นหินสวยงาม โดยน้ำตกไอหมอก มีจำนวน 3 ชั้น แต่ละชั้นสวยงามแตกต่างกันไป ซึ่งหากนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมหากโชคดี ก็มีแสงแดดส่องไปเป็นเส้นสาย สลับกับไอน้ำตกที่สวยมากเป็นอย่างมาก

โดยเส้นทางสามารถนำรถยนต์ลัดเลาะเข้าหมู่บ้านไปประมาณ 2 กม. จากนั้นต้องใช้การเดินเท้าลงไปด้านล่าง เส้นทางการเดินทางเป็นทางลงเขาเดินลัดเลาะไปตามสวนยางชาวบ้าน  ประมาณ 500 เมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 20 นาที ก็จะได้พบกับหน้าผาน้ำตกไอหมอกเป็นจุดแรก ที่มองลงไปเบื้องล่างจะเห็นเป็นหน้าผามีชั้นน้ำตก ไหลลงเป็นธารน้ำอย่างสวยงาม

จากนั้นได้ไต่ลัดเลาะโขดหินน้อยใหญ่ด้านข้างน้ำตกลงไป ลักษณะคล้ายเป็นอุโมงค์หินขนาดใหญ่ โดยมีสายน้ำตกสาดมาใส่ก้อนหินกลายเป็นน้ำหยดใต้ก้อนหิน ให้พอได้สดชื่น การเดินไต่ลงไปในครั้งนี้ระยะทางประมาณ 50 เมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 5 นาทีเท่านั้น ก็จะได้พาตัวเองลงไปอยู่เบื้องล่างของน้ำตกไอหมอก ทันที่เมื่อเงยหน้าขึ้น รับรองได้ว่าทุกคนจะลืมความเหนื่อยล้าตลอดการเดินทางที่ผ่านมาเป็นปลิดทั้ง เพราะสิ่งที่เห็นตรงหน้า คือม่านน้ำตกขนาดใหญ่ความสูงประมาณ 30 เมตร ที่มีสายน้ำไหลลงมากระทบกับชั้นหิน โขดหินเบื้องล่าง ทิ้งตัวเป็นละอองน้ำกระเซ็นให้พอชื่นใจ ก่อนจะไหลลงสู่โขดหินชั้นล่างเป็นธารน้ำที่สามารถนั่งพักแช่น้ำเย็นได้ตามใจชอบ

นายบุญเชิด คำแก้ว ประธานท่องเที่ยวทุ่งโนนสน บ้านรักไทย  กล่าวว่า สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากจะมาสัมผัสความสวยงามของน้ำตกไอหมอก ควรแต่งกายให้รัดกุมเป็นชุดเดินป่า และควรมีมัคคุเทศก์ท้องถิ่น หรือผู้นำทาง ลงไปด้วยทุกครั้ง โดยสามารถติดต่อสอบถามเส้นทาง หรือข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางหมายเลขโทรศัพท์ 062-2686937

///////

 

 

แสดงความคิดเห็น