ม.นเรศวร วิจัยผลิตภัณฑ์สำหรับลดการตายในแม่สุกรและลูกสุกร

พิษณุโลก  ทีมวิจัยโภชนศาสตร์สุกร มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ร่วมกัน บริษัท ซีดีเอฟ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด วิจัยฯ  ให้ทุนสนับสนุนศึกษาความต้องการเชิงอุตสาหกรรม วิจัยผลิตภัณฑ์ไฟโตแทนท์ (PHYTOTANT  ผลิตภัณฑ์สำหรับแม่สุกรและลูกสุกร ช่วยเพิ่มพลังงานให้แม่สุกรระหว่างคลอด ลดระยะเวลาคลอด ลดอัตราการตายของลูกสุกรแรกคลอด เพิ่มคุณภาพและปริมาณน้ำนมแม่สุกร

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่ห้องประชุม 301 ตึกเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผศ.ดร.วรสิทธิ์ โทจำปา ท่านคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมสัมมนาวิชาการการเลี้ยงสุกร และเทคโนโลยีฟาร์ม เพื่อหาทางออกวิกฤตการณ์ของคนเลี้ยงหมู ในหัวข้อ การจัดการโภชนะอย่างชาญฉลาด และการใช้เทคโนโลยีเพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืน เพื่อร่วมกันสร้างองค์ความรู้ใหม่ และหาแนวทางรอดต่อวิกฤตการณ์ของฟาร์มสุกรในปัจจุบัน ในภาวะวิกฤติราคาหมูถูก  เนื้อหมูเถื่อนทะลัก ราคาวัตถุดิบสูง โรคระบาด และต้นทุนการผลิตสูง เพื่อสร้างเครือข่ายอย่างบูรณาระหว่างภาครัฐ   ฟาร์มสุกร และภาคเอกชน ต่อ การส่งเสริม และการบริการวิชาการอย่างยั่งยืน ด้วยผลงานวิจัยของคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ไฟโตแทนท์ (PHYTOTANT) สารเสริมสำหรับสุกรเพื่อเป็นพลังงานเร่งด่วนสำหรับสุกรแรกคลอด ลดอัตราการตาย กระตุ้นภูมิคุ้มกันสำหรับลูกสุกร  เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุนการผลิตฟาร์ม

รองศาสตราจารย์ ดร. วันดี ทาตระกูล ได้กล่าวว่าในฐานะที่ตนเองทำงานวิจัยมา 20-30 ปี สุดท้ายเราต้องการผลักดันงานวิจัยให้ถึงมือผู้ใช้จริงๆ อย่างในกรณีของอาจารย์ทำงานวิจัยทางด้านอาหารเสริมสำหรับสุกร และในส่วนของงานวิจัยนอกจากจะถ่ายทอดไปถึงสุดท้ายคือผู้ใช้ซึ่งจะมีตัวกลางคือผู้ผลิต ซึ่ง ณ วันนี้เป็นโครงการที่นำนักวิจัยผู้ใช้ประโยชน์ตอนท้ายและบริษัทที่อยู่ตรงกลางก็จะมารับเทคโนโลยีของเราไปเพื่อผลิตและจำหน่ายในอนาคต ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรบ้านเรา ที่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศทำให้ต้นทุนสูง มีค่าใช้จ่ายสูง หรือมีสารตกค้าง ทั้งๆที่ความจริงแล้ววัตถุดิบในประเทศของเราที่นำมาใช้เป็นสารเสริมอาหารเสริมสำหรับสัตว์ มีอยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้นตรงนี้จะเป็นจุดเริ่มต้น ที่อยากจะบอกกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าแล้ว เพราะเรามีเทคโนโลยีของเราเอง เรามีผลงานวิจัยของเราเอง มีบริษัทที่นำไปต่อยอดได้สำเร็จพร้อมวางจำหน่ายในไทย มีคุณภาพดีใช้งานได้จริงราคาถูก เป็นการช่วยลดต้นทุนของกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรอีกด้วย

ด้านศาสตราจารย์ ดร. ชัยภูมิ บัญชาศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้รับเชิญมาเป็นวิทยากรในหัวข้อโภชนศาสตร์ และการแสวงหาทางรอด สู่ความยั่งยืนธุรกิจฟาร์มสุกร ได้กล่าวว่า เราเจอวิกฤติในการผลิตหมู เราเจอวิกฤติของหมูที่เข้ามาอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เกษตรกรจำนวนมากเจอปัญหาเหล่านี้ การแก้ไขคือ 1.เราต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสุกรของเราให้ได้ การเพิ่มประสิทธิภาพคือการลดต้นทุนแบบหนึ่ง ฉะนั้นการจะเพิ่มประสิทธิภาพได้ก็ต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์มาช่วย การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงต้องใช้วิทยาศาสตร์มาช่วย นั่นคือการนำงานวิจัยมาสู่ธุรกิจภาคเอกชนเป็นเรื่องที่สำคัญ อย่างงานที่ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรที่จัดงานในวันนี้เห็นว่าสำคัญมากเพราะว่าทางรอดเดียวของเราคือประสิทธิภาพ ต้นทุนมันแพงอยู่แล้วแพงกันทั่วโลก การเจอโรคระบาดก็เจอกันทั่วโลก ทุกคนต้นทุนแพงเหมือนกันหมด แต่ประเด็นว่าใครจะชนะกันก็ต้องแข่งกันคือเรื่องของประสิทธิภาพ ที่ต้องใช้งานวิจัยใครมีงานวิจัยที่ดีกว่า ใครมีเทคโนโลยีที่ดีกว่าคนนั้นคือผู้ชนะดังนั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นของประเทศไทยที่จะต้องนำงานวิจัยเข้ามาใส่เพิ่ม ไม่ใช่ว่าเราเลี้ยงไปตามยถากรรม สิ่งที่สำคัญที่สุด เวลานี้คือมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยเป็นต้นทุนของประเทศ มหาวิทยาลัยใช้ภาษีของราษฏร ดังนั้นมหาวิทยาลัยต้องเป็นหน่วยงานที่จะต้องเข้าไปซัพพอร์ตภาคธุรกิจให้ได้

ด้าน นายการัณ ศิริพานิช ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมฟาร์ม ได้กล่าวว่า ไมโครแฟท พิกบูสเตอร์ ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวรได้กล่าวว่า ตัวนี้คือตัวไขมันสายกลางเข้มข้นที่เราคัดส่วนที่ดีที่สุดเอามาสกัดผ่านกระบวนการพิเศษในการเคลือบ ซึ่งตัวนี้จะทำให้ประสิทธิภาพที่เราทำให้สัตว์กินจะส่งผลให้ดีมากๆ คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ไฟโตแทนท์ ช่วยเพิ่มพลังงานให้กับลูกสุกรแรกคลอด ช่วยให้ลูกสุกรฟื้นตัวได้เร็วหลังคลอด ช่วยเพิ่มโอกาสลูกสุกรได้รับนมน้ำเหลืองมากขึ้น ลดอัตราการตาย-ท้องเสียกว่า 40-50% ช่วยลดความเครียด และการอักเสบจากอาการท้องเสีย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเจริญเติบโต ช่วยลดต้นทุนได้มากกว่า 30% และช่วยลดการผลิตยาปฏิชีวนะ

สำหรับโครงการนี้  มีแผนการจัดกิจกรรมจำนวน  5 ครั้ง  ในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ จ.พิษณุโลก  จัดงานใน คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร

ครั้งที่ 2  จัดวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2567 ผ่านความร่วมมือระหว่าง คณะเกษตรศาสตร์ และทรัพยากรธรรมชาติ และ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ จังหวัดชลบุรี

ครั้งที่ 3 จัดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ผ่านความร่วมมือระหว่าง คณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์

ครั้งที่ 4 จัดวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ผ่านความร่วมมือระหว่าง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ครั้งที่ 5 จัดวันที่ 9-10 มีนาคม พ.ศ. 2567 ณ จังหวัดกาญจนบุรี

////

แสดงความคิดเห็น