พลังศรัทธา แห่ดอกบัว ถวายหลวงพ่อพุทธชินราช 668 ปี  

จังหวัดพิษณุโลก จัดใหญ่ ขบวนแห่พระพุทธชินราชจำลองและดอกบัวบูชา ฉลอง 668 ปีแห่งศรัทธาอย่างยิ่งใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน ขบวนนางรำกว่า 1,500 ชีวิต ดอกบัวกว่า 5,000 ดอก ร่วมกันร่ายรำถวายเป็นพุทธบูชาอย่างพร้อมเพรียง งดงามอ่อนช้อยสะกดทุกสายตาตลอดเส้นทางทั่วเมือง ประชาชนเนืองแน่นสองฝั่งถนนร่วมสักการะองค์หลวงพ่อด้วยใจเปี่ยมศรัทธา

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2568 จังหวัดพิษณุโลกร่วมกันจัดงานใหญ่ทางพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม ด้วย “ขบวนแห่พระพุทธชินราชจำลอง” และ “ขบวนแห่ดอกบัวถวายเป็นพุทธบูชา” อย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติแห่งศรัทธา ฉลอง 668 ปี “องค์หลวงพ่อพระพุทธชินราช” พระคู่บ้านคู่เมือง ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมืองพิษณุโลก ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความศรัทธาและความพร้อมเพรียงของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า

เวลา 15.09 น. นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วยเหล่าข้าราชการ นำขบวนแห่ ที่เริ่มเคลื่อนตัวอย่างสง่างามจากถนนนเรศวร ผ่านวงเวียนสถานีรถไฟ สี่แยกบ้านแขก วัดราชบูรณะ มุ่งหน้าสู่วิหารหลวงพ่อพระพุทธชินราช โดยมีประชาชนเฝ้ารอชมสองฝั่งถนนอย่างเนืองแน่น บางส่วนร่วมสักการะด้วยการนั่งพับเพียบประนมมือ หลายคนถือดอกบัวพร้อมจุดธูปเทียน ร่วมบูชาด้วยจิตเปี่ยมศรัทธา บรรยากาศเต็มไปด้วยความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและความภาคภูมิใจในรากเหง้าทางวัฒนธรรมไทย

 

ไฮไลต์สำคัญของปีนี้ คือขบวนนางรำจำนวนกว่า 1,500 ชีวิต ดอกบัวที่ร่วมกันพับจำนวน 5,000 ดอก จากสถานศึกษาและชุมชนทั่วทั้งจังหวัดพิษณุโลก ที่ร่วมใจกันแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองสีสันสดใส ร่ายรำถวายเป็นพุทธบูชาอย่างอ่อนช้อยงดงามตลอดแนวเส้นทางขบวนแห่ ความพร้อมเพรียงในทุกท่วงท่าที่สะบัดผ้า พลิ้วไหวตามเสียงดนตรีไทย ทำให้ทั้งถนนกลายเป็นเวทีศิลปวัฒนธรรมที่เปี่ยมด้วยพลังศรัทธา

ยามขบวนเคลื่อนผ่านแต่ละจุด ประชาชนที่ยืนรอชมข้างทางต่างตื่นตาตื่นใจ ชื่นชมในความวิจิตรตระการตาของคณะนางรำ ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ไปจนถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ต่างพากันบันทึกภาพความงดงามอันประทับใจไว้เป็นที่ระลึก พร้อมทั้งปรบมือให้กำลังใจตลอดเส้นทาง สะท้อนถึงความภาคภูมิใจร่วมกันของคนเมืองสองแคว

ขบวนแห่ยังประกอบด้วยริ้วขบวนทางวัฒนธรรมที่งดงามตระการตา ทั้งการแต่งกายแบบไทยพื้นเมือง พานดอกบัวที่จัดตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจง และรถบุษบกอัญเชิญพระพุทธชินราชจำลองซึ่งเป็นจุดสนใจของทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาร่วมชมงานอย่างคึกคัก

ตลอดเส้นทาง ขบวนแห่ยังสะท้อนให้เห็นถึงพลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่ร่วมกันถวายดอกบัวเป็นพุทธบูชา น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและองค์หลวงพ่อพระพุทธชินราช ถือเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ความสามัคคี และการสืบสานคุณค่าทางจิตวิญญาณของชาวพิษณุโลก

พิธีในครั้งนี้ยังถือเป็นกิจกรรมสำคัญภายใต้เทศกาลอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ประจำปี 2568 ซึ่งจังหวัดพิษณุโลกได้จัดขึ้นต่อเนื่องทุกปี เพื่ออนุรักษ์ประเพณีอันดีงามและส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมายาวนานกว่า 6 ศตวรรษอย่างยิ่งใหญ่

//////////////////

 

แสดงความคิดเห็น