วันที่ 16 สิงหาคม 2554 ผู้สื่อข่าวรายงานจากอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ต.เนินเพิ่ม อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ว่า เจ้าหน้าที่อุทยานฯได้พบรอยเท้ามนุษย์โบราณ 1 รอย ฝังอยู่ในก้อนหิน กลางป่าทึบ ที่ความสูงบนยอดเขาประมาณ 1,200 เมตร
ผู้สื่อข่าวได้บุกพิสูจน์รอยเท้าโบราณพร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานฯ พบว่า รอยเท้าดังกล่าว ซุกซ่อนอยู่บนลานหินก้อนหนึ่ง กลางป่าดิบเขาที่สมบูรณ์ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯภูหินร่องกล้าประมาณ 1 กิโลเมตร ลักษณะเป็นรอยเท้าคน ข้างขวา ข้างเดียว เหมือนกับเหยียบย่ำบนพื้นโคลน มีนิ้วเท้าครบทั้ง 5 นิ้ว ส้นเท้าก็เห็นได้ชัดเจน เมื่อเทียบกับเท้าของเจ้าหน้าที่ผู้ชายแล้ว คะเนว่า จะเป็นรอยเท้าของผู้หญิง เนื่องจากมีขนาดเล็กกว่าเท้าผู้ชายที่โตเต็มที่
รอยเท้าดังกล่าว ฝังอยู่ในก้อนหินขนาดใหญ่ความกว้างประมาณ 5 เมตร ลักษณะเป็นก้อนหินของป่าต้นน้ำ ที่มีลำธารสายเล็ก ๆ ไหลผ่านรอยเท้าโบราณ ส่วนสภาพแวดล้อมทั่วไป ก้อนหินทรายในจุดนี้ ปกคลุมด้วยมอสและเฟิร์น รวมดึงดอกไม้ป่าประเภทเปราะจำนวนมาก ผู้สื่อข่าวได้สังเกตก้อนหินรอบ ๆ ใกล้เคียง ไม่พบรอยเท้าใด ๆ
นายศักดิ์ปรินทร์ สุรารักษ์ ผู้ช่วยอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เปิดเผยว่า เป็นลักษณะรอยเท้าคนที่สมัยโบราณที่เคยอาศัยหรือเดินผ่านบริเวณนี้ เมื่อก่อนคงเป็นพื้นโคลน เวลาผ่านไปขณะนี้กลายเป็นหินทราย ที่ปกคลุมด้วยมอสและเฟิร์นตลอดเวลา เพราะป่ามีความชื้นสูงมาก ถ้าน้ำไม่ชะล้างมอสเฟิร์นออกก็คงไม่พบ และขณะนี้พบรอยเท้าคนเพียงจุดเดียวเท่านั้น กำลังรวบรวมข้อมูลและภาพถ่าย แจ้งให้นักธรณีวิทยามาสำรวจ
นายไพรัช มณีงาม หัวหน้าอุทยานภูหินร่องกล้า เปิดเผยว่า รอยเท้ามนุษย์ ประทับบนหินร่องกล้า ถือว่า แปลกประหลาด คงไม่น่ามีใคร เอาลงทุนสร้างเท้ามนุษย์ไปฝังบนเนินหินแน่นอน น่าจะเกิดโดยธรรมชาติ หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์ภูหินร่องกล้า ก็ถือว่า ตอกย้ำความเชื่ออุทยานภูหิน เคยเป็นชั้นหินแล้วเกิดการสะสมตัวของตะกอนเม็ดกรวด เม็ดทรายใต้ท้องน้ำ จน 50 ล้านปีก่อน เกิดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกครั้งใหญ่ บริเวณภูหินร่องกล้าถูกยกตัวสูงขึ้นโดยถูกแรงบีบอัดสองด้าน จากทิศตะวันออก และทิศตะวันตกเกิดเป็นภูเขา ทำให้เกิดรอยแยก จากนั้น 15 ล้านปีเกิดการฉีกขาดของเปลือกโลกทำให้เกิดรอยเลื่อน (Fault) แนวเหนือใต้ขึ้น ส่วนที่เป็นภูหินร่องกล้าณ.วันนี้ถูกยกตัวสูง รอยแยกต่างๆปรากฏเห็น คือ ลานหินแตก ส่วนลานหินปุ่ม สันนิษฐานว่าเกิดจากการผุพังทำลายของชั้นหิน ต่อมาถูกน้ำกัดเซาะทำให้รอยแตกเป็นร่องลึก และกว้างมากขึ้น เกิดเป็นแท่งหินรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสและต่อมาจึงค่อยกลายรูปร่างกลมมนขึ้น แลเห็นเป็นลานปุ่มเรียงรายอยู่ทั่วไป แต่รอยเท้า ที่เกิดขึ้นบนหิน ดังกล่าว นั้น ไม่ทราบว่า เกิดขึ้นอย่างไร ก็สันนิฐานกันว่า น่าจะเป็นร่องรอยมนุษย์ยุคหลายล้านปีก่อน
สำหรับ จุดที่พบรอยเท้าคนนี้ อยู่ใกล้เคียงกับโรงพยาบาลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เมื่อครั้งภูหินร่องกล้าเป็นสมรภูมิสู้รบ บริเวณนี้อยู่กลางป่าทึบ ในอดีตเป็นเส้นทางที่พรรคคอมมิวนิสต์เดินเป็นประจำระหว่างสำนักอำนาจรัฐ โรงเรียนการเมืองและโรงพยาบาล และไม่มีใครสังเกตเห็น แม้เจ้าหน้าที่อุทยานฯเดินสำรวจป่าหลายครั้งก็พบได้ยาก เพราะก้อนหินปกคลุมด้วยมอสหนา อย่างไรก็ตาม บริเวณลานหินแตก ยังพบร่องรอยคล้ายสัตว์ประเภทเก้ง กวาง ฝังอยู่ในก้อนหินหลายรอย ลักษณะเดินย่ำเป็นกลุ่ม ๆ ส่วนรอยเท้ามนุษย์ เพิ่งพบเพียงรอยเดียว
จุดที่พบรอยเท้ามนุษย์โบราณฝังในหินทราย อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าประมาณ 1 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางรถยนต์จากที่ทำการขับมาจอดบริเวณสะพานมรณะ แล้วเดินเข้าป่าทึบไปทางด้านทิศขวา ขึ้นเขาลงห้วยระยะทางประมาณ 400 เมตร
รายงานแจ้งว่า ช่วงเดือนธันวาคม 2549 บนอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าได้ค้นพบ รอยเท้าไดโนเสาร์บริเวณลานหิน ลำห้วยหมันแดง อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าราว 50 กิโลเมตร บริเวณเทือกเขาภูลมโล พบรอยเท้าไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ อยู่บริเวณลานหิน เป็นร่องลึกชัดเจน รอยเท้ามีความกว้าง 30เซนติเมตร ยาว 35 เซนติเมตร เป็นรอยก้าวเดิน ห่างกันประมาณ 1.30 เมตร – 1.40 เมตร ไม่ตำกว่า 10 รอย ถมองเห็นได้ชัดเจน พร้อมกับแม่น้ำซึมไหลผ่าน นักธรณีวิทยาจากกรมทรัพยากรธรณี ได้มาพิสูจน์ครั้งนั้น ยืนยันว่าเป็นรอยเท้าไดโนเสาร์กลุ่มกินเนื้อ(กินสัตว์)เป็นอาหารขนาดใหญ่ในยุคกว่า 100 ล้านปี ส่วนข้อมูลว่า จะเป็นความสูงใหญ่ของลำตัว กี่สายพันธุ์ อะไรบ้าง นักสำรวจได้เก็บหลักฐานไว้พิสูจน์ห้องปฏิบัติอีกครั้ง ทั้งนี้รอยเท้าที่พบ เป็นรอยเท้าที่อยู่บนหินทราย ที่มีการทับถมตะกอนทางน้ำโบราณ น้ำแห้ง แล้วไดโนเสาร์หรือสัตว์มาเหยียบย้ำก็เกิดรอยเท้าขึ้น เมื่อร้องเท้าแห้งก็มีน้ำพัดมาอีก เกิดตะกอนหินทรายทับถมเป็นชั้น ๆ