ชาวพิษณุโลก 400 ครอบครัวดีใจแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนแนวกำแพงเมืองเก่าสำเร็จ

วันที่ 31 ตุลาคม 2561  ที่ถนนมหาธรรมราชา อ.เมืองพิษณุโลก พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมกับนายชัชพงศ์ เอมะสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ลงพื้นที่ติดตามคำวินิจฉัยและติดตามกำกับการรังวัดที่ดินตามแนวเขตกำแพงเมือง – คูเมือง พิษณุโลก แก้ปัญหาที่ยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปี  หลังมีการระงับการครอบครองสิทธิ์ในพื้นที่เพราะอยู่ในเขตแนวกำแพงเมืองตามที่กรมธนารักษ์ได้ยื่นคำร้องไว้ จนเป็นที่มาของปัญหาการครอบครองที่มานานหลายสิบปี ซึ่งทางผู้ครอบครองก็ได้มีการยื่นหนังสือเพื่อขอให้ทางการพิจารณาใหม่ จนเป็นที่มาของการดำเนินการตรวจสอบพื้นที่อย่างระเอียด และเข้าสู่การออกหนังสือรับรองสิทธ์ หนังสือสำคัญที่หลวง (นสล.) ในครั้งนี้ โดยมีประชาชนชาวพิษณุโลก ได้รับสิทธิประโยชน์ในครั้งนี้จำนวน 400 ราย ที่ดิน 597 แปลง

พลเอก วิทวัส กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดินได้หารือและแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด จนค้นพบหลักฐานสำคัญชิ้นใหม่ คือ ระวางแผนที่ ร.ศ. 122 ที่จัดทำขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2446 เพื่อใช้ในการออกเอกสารสิทธิที่ดินให้กับราษฎรและได้ลงแนวเขตที่ดินกำแพงเมืองตามสภาพที่หลงเหลือในขณะนั้น ซึ่งมีการแสดงแนวเขตที่ดิน ที่รัฐไม่สามารถออกเอกสารสิทธิให้กับผู้ใดได้ นับเป็นหลักฐานที่สามารถนำมาอ้างอิงว่ารัฐได้กันที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไว้แล้ว ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 32 ขอให้กรมธนารักษ์พิจารณาดำเนินการประกาศแนวเขตที่ราชพัสดุกำแพงเมือง-คูเมืองพิษณุโลก โดยให้ยึดถือตามเขตแนวระวางที่ ร.ศ.122 ซึ่งกรมธนารักษ์ ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวิเคราะห์สภาพการใช้ประโยชน์ของที่ดินภายในขอบเขตที่ดิน กำแพงเมือง-คูเมืองตามแนวคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยมอบหมายให้สำนักงานธนารักษ์พื้นที่พิษณุโลกติดตามการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) โดยประสานงานกับเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลกดำเนินการต่อไป

โดยในวันนี้ทางผู้ตรวจการแผ่นดินได้มาติดตามผลการเตรียมการรังวัด โดยมีนายชัชพงศ์ เอมะสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันรังวัดในพื้นที่ดังกล่าว อันเป็นกระบวนการสุดท้ายก่อนนำไปสู่การออกโฉนดที่ดิน หนังสือสำคัญที่ที่หลวง ( นสล.) ที่ถูกต้องเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งนับว่าเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน โดยคำนึงถึงการอยู่ร่วมกันให้เป็นปกติสุขของชุมชนและรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สาธารณะของประชาชน.

///////////

 

แสดงความคิดเห็น