ชาวบ้านหัวร้อง นครไทย สืบสานอาชีพ “คนแทงหยวก”


โดยชาวบ้าน บ้านหัวร้อง ต.นครไทย อ.นครไทย จ.พิษณุโลก สืบสานตำนานอาชีพคนแทงหยวก หนึ่งในศิลปะช่างสิบหมู่ ที่เป็นสิ่งที่หาดูได้ยากมากแล้วในปัจจุบัน
การแทงหยวก หรือการแกะสลักหยวกให้มีลวดลายต่างๆ นั้น ถือเป็นหนึ่งในศิลปะช่างสิบหมู่ ที่เป็นสิ่งที่หาดูได้ยากมากแล้วในปัจจุบัน มีต้นกำเนิดมาจากคนมอญ การแทงหยวกนั้น จะต้องใช้ต้นตานีสวน ที่คัดมาอย่างดี เพราะ เนื้อผิวจะสวย เวลาจะแกะ จะเกิดความสวยงาม ใครจะรู้ว่าในพื้นที่ บ้านหัวร้อง ต.นครไทย อ.นครไทย จ.พิษณุโลก นั้น ยังมีศิลปะ ของดีในชุมชนแบบนี้อยู่ และสืบทอดเป็นของดีในชุมชนจากรุ่นสู่รุ่นมานานกว่า 100 ปีแล้ว


โดยผู้ที่ยังคงสืบสานอาชีพนี้ไว้ ก็คือนายสิทธิศักดิ์ วิเชียรสรรค์ หรือ อาจารย์เดียร์ อายุ 43 ปี อยู่บ้านเลขที่ 312 ม.6 ต.นครไทย อ.นครไทย จ.พิษณุโลก เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่าสืบทอดฝีมือและเอกลักษณ์งานแทงหยวกกล้วย ประกอบแลแห่นาคของชาวนครไทยมาตั้งแต่ปี 2517 เพราะอยากจะสืบสานงานแทงหยวกประดับแลแห่นาค ที่เป็นประเพณีหนึ่งเดียวในประเทศหรือในโลกนี้ก็ว่าได้ และยินดีที่สอนให้เด็ก ๆ ได้ทำเป็นเพื่อหารายได้เสริมให้กับครอบครัว ให้คนรุ่นหลังได้สืบสานอนุรักษ์ไว้ เพราะไม่อยากให้ศิลปะอันดีงามของไทยสูญหายไป จนได้ไปเป็นวิทยากรสอนการแทงหยวกกล้วยให้แก่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ อีกมาก เด็กนักเรียนจะเรียกว่า อาจารย์เดียร์ปราชญ์ชาวบ้าน


อาจารย์เดียร์ บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ก่อนจะสอนการแทงหยวกให้กับลูกหลานหรือชาวบ้านที่สนใจ ต้องมีการครอบครูก่อนจึงฝึกสอนกันได้ โดยในช่วงแรกเป็นการช่วยครูทำสิ่งที่ง่ายๆ ก่อน ต่อมาเมื่อมีความชำนาญหรือมีลักษณะเพิ่มมากขึ้น จึงสามารถรับงานทั่วไปได้ เช่น นายณัฐวุฒิ นิลผาย และนายสุรเชษฐ์ อิ่มชม เด็กในชุมชนที่เรียนรู้วิธีการแทงหยวกมาตั้งแต่สมัยเรียน ม.4 จนตอนนี้เรียน ปี 2 แล้ว เรียกได้ว่ามีความชำนาญจนสามารถรับงานได้ มีรายได้เสริมระหว่างเรียน นอกจากนี้ก็ยังมีเด็กๆ ในชุมชนที่สนใจอยากเรียนรู้ ก็มักจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาช่วยจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างบ้าง ก็ช่วยทากาว ติดผ้า ตัดต้นกล้วยกันบ้าง
อาจารย์เดียร์ ได้เล่าถึงขั้นตอนในการแทงหยวก จะต้องเลือกใช้กล้วยตานีที่ยังไม่ออกผล โดยต้องตัดหยวกกล้วยให้มีขนาดประมาน 30-40 เซนติเมตร โดยตัดหัวท้ายออก เสร็จแล้วก็นำไปยึดกับโครง และต้องต้องลากกาบที่ไม่สวยออกไป แล้วจึงเริ่มการแทงหยวก อุปกรณ์ก็ต้องมีมีดปลายแหลม มีกระดาษสีที่ใช้รองด้านในให้เกิดความสวยงามมากขึ้น


หากมองด้วยตาเหมือนจะง่าย แต่จะบอกว่าไม่ง่ายอย่างที่ตาเห็น เพราะถ้าทำไม่เป็นแกะพลาดไปนึดนึงเละเลย ศิลปะประเภทนี้ต้องใช้ความชำนาญเป็นอย่างมาก และการฝึกฝนเป็นประจำ โดยลายที่นำมาแกะ ก็จะมีทั้งลาย ลายฟันสาม ลายฟันปลา ลายหงส์คาบเครือ ลายเครือเถาวัลย์และ ลายน่องสิงห์ แต่ละลายก็มีความยากง่ายแตกต่างกันไป พอแกะเสร็จ เขาก็จะนำไปใช้ในการประดับตกแต่ง แล ให้มีความสวยงาม
การแทงหยวกนั้นถือเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างรายได้ให้คนในชุมชน โดยใช้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น นำสิ่งที่หาได้ เช่นต้นกล้วยตานี มาแกะสลัก เป็นลวดลายให้เกิดความสวยงาม นำไปใช้ในการบุญ งานศพ ประเพณีต่างๆ โดยใช้ความสร้างสรรค์เฉพาะตัวของผู้แกะสลัก และถือเป็นของดีในชุมชนที่หาดูได้ยากมาก การสืบทอดศิลปะนี้ ยังช่วยอนุรักษ์วัฒนธรรมและ ภูมิปัญญาท้องถิ่นไปถึงคนรุ่นหลังได้มาเรียนรู้กันต่อไป


สำหรับท่านใดที่สนใจ ในอาชีพคนแทงหยวก หรือต้องการจะสั่งแทงหยวกประดับแล เพื่อใช้ในงานประเพณีต่างๆ ก็สามารถติดต่อได้ที่ หมายเลข 0987728045

แสดงความคิดเห็น