บวงสรวงจัดงานประเพณีปักธงชัย อ.นครไทย จ.พิษณุโลกประจำปี 2563

วันที่ 25 ตุลาคม 2563 ที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ พ่อขุนบางกลางท่าว หรือ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราวงศ์พระร่วง ของกรุงสุโขทัย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก นายรณชัย  จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก  นำประชาชนชาวอำเภอนครไทย ทำพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณของพ่อขุนบางกลางท่าว  พร้อมกล่าวอาเศียรวาท พระราชประวัติอันเกรียงไกรเหนือแผ่นดินเมืองนครไทย หรือ เมืองบางยางในขณะนั้นด้วย

งานประเพณีปักธงชัย ถือเป็นประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญของประชาชนชาวอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ที่ได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ตรงกับเช้ามืดของวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ของทุกปี หรือ วันลอยกระทง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก จะเป็นผู้นำธงที่ชาวบ้านร่วมกันทอ ไปปักที่ยอดเขาช้างล้วง  ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือห่างจากที่ว่าการอำเภอนครไทย ประมาณ 6 กิโลเมตร ชาวนครไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าการนำธงชัยไปปัก จะทำให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข กินดีอยู่ดี ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลและเพื่อเป็นการระลึกถึงคุณูปการของ พ่อขุนบางกลางท่าวเจ้าเมืองบางยาง ซึ่งหลังจากได้ยกทัพต่อสู้กับขอมเพื่อกู้แผ่นดิน เมื่อ พ.ศ.1871 ก่อนทำศึกได้ทรงปลูกต้นจำปาเสี่ยงทายไว้ หากมีชัยชนะขอให้เจริญเติบโต มีดอกเป็นสีขาวนวล และก็ประสบชัยชนะเป็นไปตามนิมิตมงคล ต้นจำปาขาวจึงปรากฏอยู่ที่นี่แห่งเดียวในประเทศ  พระองค์ยังได้นำเอาผ้าคาดเอว ผูกปลายไม้  แล้วปักไว้ที่ยอดเขาช้างล้วงแห่งนี้ไว้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ และยังเปรียบได้ว่าได้เริ่มก่อตั้งอาณาจักรสยามตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และผ้าคาดเอวผืนนั้นก็กลายเป็นธงชาติไทยผืนแรก นั่นเอง

สำหรับปีนี้ การนำธงชึ้นไปปักบนเขาช้างล้วงนั้น ตรงกับวันที่  31 ต.ค.2563  วันขึ้น15 ค่ำ เดือน 12 หรือวันลอยกระทงของชาวไทย ตั้งแต่เช้ามืดชาวบ้านในอำเภอนครไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวที่ชอบขึ้นเดินเขา จะไปรวมตัวกันที่บริเวณเขาช้างล้วง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก เพื่อร่วมกันประกอบพิธีแห่ธงขึ้นเขาช้างล้วง ระยะ3.5 กิโลเมตร โดยจะนำธงทั้ง 3 ผืนที่ผ่านการทอด้วยฝีมือของทุกภาคส่วนในอำเภอนครไทยที่ร่วมมือร่วมใจกันทอขึ้น  ก่อนจะนำขึ้นไปปักบนยอดเขา 3 ยอด ประกอบด้วย เขาฉันเพล เขาย่านไฮ และเขาช้างล้วง โดยในการปักธงแต่ละผืน ที่จะปักลงบนยอดเขา นั้นก็จะมีพระภิกษุสงฆ์สวดมนต์ก่อนทำพิธีปัก ซึ่งขณะปักธง ชาวบ้านก็จะโห่ร้องกันเสียงดัง เพื่อบ่งบอกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นประเพณีปักธงชัยบนเขาช้างล้วง ที่ชาวนครไทย สืบสานมาตั้งแต่โบราณกาลมาจวบจนปัจจุบัน

 

 

แสดงความคิดเห็น