กมธ.พัฒนาการเมืองฯเปิดเวทีรับฟังผลกระทบของประชาชน กรณีแผนงานสร้างศูนย์กระจายสินค้าบึงพระ

6 ก.พ. 64 คณะกรรมาธิการ(กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร จัดเวทีการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยในช่วงเช้า ได้เปิดเวทีในหัวข้อ “โครงการพิจารณาการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าบึงพระ”เวลา 10.00 – 12.00 น. ณ วัดสันติวัน โดยมีตัวแทนตัวแทนจากหน่วยงานเข้าร่วมประชุม ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย ขนส่งจังหวัดพิษณุโลก นายก อบต.บึงพระ และตัวแทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

จากปัญหาของโครงการก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าจังหวัดพิษณุโลก (Track Terminal) ที่สร้างผลกระทบให้กับชาวบ้านในพื้นที่ 17 ครัวเรือน ที่ถูกศึกษาเวนคืนที่ดิน ทำให้ชาวบ้านไม่ได้รับความชัดเจนว่า โครงการก่อสร้าง และจะมีการเวนคืนที่ดินจริงเมื่อไหร่ จากการเวทีการประชุม กมธ. ในวันนี้ ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบเปิดเผยข้อมูลล่าสุดว่า “โครงการดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน” ทำให้ยังไม่สามารถตอบคำถามเรื่องระยะเวลากับชาวบ้านได้ รวมถึงตัวแทนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย นายมานะ วงษ์รีย์ สารวัติปฏิบัติการ ภาค 3 แจ้งว่าโครงการทั้ง 2 โครงการ (รถไฟรางคู่ และศูนย์ขนส่งสินค้า ไม่ได้อยู่ในหน่วยงานที่รับผิดชอบเดียวกัน)

ขณะที่ยุทธศาสตร์ของโครงการศูนย์ขนส่งสินค้า ที่จะมีการเวนคืนที่ดินของชาวบ้านนั้น เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม ซึ่งมอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก ในระดับภูมิภาคดูแลเรื่องนี้

ประชาชนรายหนึ่งเสนอว่า ถ้าหากแผนยังไม่ชัดเจน ก็ต้องถอนเสาออกไปก่อน จนกว่าจะมีความชัดเจนของโครงการ รวมถึงขอความชัดเจน ชาวบ้านเสียสิทธิ์ ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างไร

อีกรายสะท้อนว่า “ตอนที่มาสำรวจครั้งแรกบอกแล้วเสร็จปี 2563 ทุกคนเตรียมหาที่ดินใหม่ พอประชุมครั้งที่ 2 บอกแล้วเสร็จที่ว่าคือสำรวจแล้วเสร็จ ตั้งแต่บอกว่าจะมีการเวนคืนทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมด มันคือปัญหาทางจิตใจ เราตัดสินใจซื้อบ้าน 2 หลัง เพราะที่บ้านเป็นครอบครัวใหญ่ แล้ววันนี้บอกว่าอาจจะไม่ได้ อาจจะมีการมาถอนเสาคืนคืออะไร อยากให้เขารู้ปัญหาว่าเราเสียความรู้สึกอย่างมาก สรุปว่าไม่มีอะไรเลย แล้วถ้าเกิด กมธ. ไม่มาประชุม ขนส่งจะบอกเราไหม ว่ามันไม่แน่นอน เพราะเขาไม่เคยกำหนดเลยว่าจะประชุมอีกทีเมื่อไหร่”

ด้าน นางสุธีวรรณ ศรีสุข ตัวแทนจากขนส่งจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ในนามของกรมการขนส่งทางบก ต้องขอโทษทางพี่น้องทุกท่านที่ไม่ได้สามารถแสดงความชัดเจนของโครงการได้ ในส่วนของการปักป้ายเวนคืนที่ดิน จะรีบรายงานอธิบดีกรมการขนส่งทางบกโดยด่วน

ในส่วนของการประชาสัมพันธ์ว่าปี 2566-2567 จะมีการเปิดใช้งานนั้น เป็นข่าวที่กระทรวงคมนาคมปล่อยออกมา ขนส่งจังหวัดเป็นหน่วยงานในพื้นที่รับรู้จากกระแสข่าวเหมือนกัน เพราะในส่วนที่รับผิดชอบหลักจริงๆ คือกระทรวงคมนาคม

ส่วน นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ.ฯ เสนอว่าตนจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม กมธ. และจะต้องนำหน่วยงานที่รับผิดชอบมาชี้แจง เพราะเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงโครงการที่สร้างผลกระทบในจังหวัดพิษณุโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบในอีกหลายจังหวัด ซึ่งเป็นโครงการระดับประเทศ ทางรัฐมนตรีจะต้องมีการมีชี้แจงถึงเรื่องดังกล่าว

 

(ช่วงบ่าย) เวทีรับฟังผลกระทบการก่อสร้างหมู่บ้านศุภาลัย เวลา 13.00 – 18.00 น. ณ ลานอเนกประสงค์ชุมชนดีอินทร์พัฒนา โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานเข้าร่วมประชุม ได้แก่ นางจิตวรา ไคล้คง หัวหน้าฝ่ายผังเมืองตัวแทนจากเทศบาลนครพิษณุโลก ตัวแทนจากบริษัท ศุภาลัย จำกัด(มหาชน) ตัวแทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ตัวแทนของบริษัท ศุภาลัย จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของข้อร้องเรียนที่เราได้รับมาก่อนหน้านี้ เรื่องการตอกเข็มที่มีแรงสั่นสะเทือนทำให้หมู่บ้านได้รับความเสียหาย เราได้มีการแก้ไข เปลี่ยนมาเป็นเจาะเข็มแทน ส่วนเรื่องน้ำ ที่ไหลไปในหมู่บ้านข้างเคียง เราได้มีการล้อมรั้วไปเกือบครึ่งหนึ่ง ทางเรายังแก้ไขไม่ครบ แต่ได้ดำเนินการไปแล้วส่วนหนึ่ง ส่วนโครงการยังเหลือการทำรั้วส่วนหนึ่ง คือบริเวณแคมป์คนงาน ซึ่งกำลังเร่งดำเนินการ โครงการของเราเป็นโครงการขนาด 368 unit คาดว่าการก่อสร้างโครงการน่าจะจบประมาณปี 65-66

พร้อมทั้งยืนยันว่า ในระยะยาวหากได้รับผลกระทบยินดีช่วยเหลือ แต่ตอนนี้จำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริง เพราะบ้านหลังที่ได้รับผลกระทบจริงๆ มีอยู่ไม่ถึงครึ่งของผู้ที่ลงชื่อร้องเรียนทั้งหมด ทั้งนี้ ในส่วนที่ชาวบ้านร้องเรียนเรื่องท่อระบายน้ำ ยะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน

ด้าน นางจิตวรา ไคล้คง หัวหน้าฝ่ายผังเมือง เทศบาลนครพิษณุโลก ยืนยันว่าทางศุภาลัย ได้ดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างทางกฎหมายถูกต้อง ทั้งนี้ ทางเทศบาล มีนายช่างประจำเขตคอยรวบคุมติดตาม ว่าทางโครงการได้ทำตามข้อตกลงของเราหรือไม่ ในส่วนของปัญหาน้ำท่วมนั้น ทางศุภาลัยได้ให้ข้อตกลงคือ ‘ขุดรอก’ ร่องระบายน้ำเข้าไปในโครงการกักน้ำไม่ให้ไหลเข้ามาในบ้านประชาชน และทำกำแพง ซึ่งทางโครงการได้ดำเนินการแล้ว รวมถึงรายงานทางจังหวัดที่ประชาชนได้ไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม

ขณะที่ ชาวบ้านสะท้อนว่า แม้จะมีการขออนุญาตเรียบร้อยแล้ว แต่ทางเทศบาลเคยเห็นหรือไม่ว่า ทางโครงการได้ถมที่ไปครึ่งหน้าต่างของชาวบ้านที่อยู่มาก่อน รวมถึงการกั้นกำแพงไม่ได้ช่วยอะไร เพราะถ้าฝนตกลงมา น้ำจะไหลมาได้เลย อีกทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า ท่อน้ำมีขนาดเล็ก สร้างความกังวลว่าในหน้าฝนจะสามารถรองรับน้ำได้เพียงพอหรือไม่ อยากให้ทางเทศบาลเข้ามาตรวจสอบ

ทั้งนี้ ทางตัวแทนศุภาลัยได้ขี้แจงว่า แม้ระดับดินจะสูงเท่าหน้าต่าง แต่ทางโครงการได้มีการใช้แผ่นกันดิน และทำทุกอย่างตามหลักวิศวกร แต่ถ้ามีจุดที่น้ำไหลออกไป ยินดีรับผิดชอบทุกจุด ทางโครงการมีวิธีการแก้ไขรองรับไว้แล้ว ถ้าชาวบ้านมีปัญหาสามารถเข้าไปแจ้งที่โครงการได้เลย ส่วนในเรื่องท่อระบายน้ำเล็ก ไม่อยากให้กล่าวจากสิ่งที่เห็น เพราะได้มีการคำนวนโดยมีวิศวกรรองรับทุกอย่าง ว่ามีการรองรับน้ำจากครัวเรือน และน้ำฝนได้ ท่อดังกล่าวเป็นเพียงท่อของซอยย่อย และค่อยๆ เพิ่มตามขนาดซอย ทุกอย่างมีการคำนวนและออกแบบทั้งหมด

นางจิตวรา กล่าวเพิ่มเติมว่า เทศบาลเข้าใจปัญหาของชาวบ้าน ไม่ใช่ว่าเทศบาลเลือกปฏิบัติ เราถือข้อกฎหมาย เราเป็นผู้แค่ทำตามข้อกฎหมาย เรื่องของการถมดิน เจ้าของที่ดินสามารถทำได้ โดยที่มีข้อกำหนดว่า ถ้าสูงกว่าพื้นที่ข้างเคียง ต้องทำที่ระบายน้ำ กำแพงคันดิน มีวิศวกรรองรับ นี่คือการขออนุญาต ซึ่งทางโครงการเขาขอมาถูกต้อง ส่วนของการปฏิบัติ คนคุมงานจะต้องรับผิดชอบ ถ้าถมดินทำให้พื้นที่ข้าวเคียงเดือดร้อน ซึ่งชาวบ้านสามารถแจ้งทางศุภาลัยได้ ส่วนในเรื่องของระดับท่อระบายน้ำในชุมชน นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก ได้ลงมาสำรวจแล้ว น่าจะเป็นแผนในการพัฒนาต่อไป

ส่วนชาวบ้านดีอินทร์พัฒนา ย้ำว่า ไม่อยากให้ปัญหาเกิดก่อนแล้วมาแก้ไข แต่ทางโครงการต้องมีการป้องกันไว้ไม่ให้รับผลกระทบ รวมถึงเสนอสร้างบ่อรับน้ำเพื่อสูบน้ำระบายทิ้ง

ด้านนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 พรรคก้าวไกล ในฐานประธาน กมธ. พัฒนาการเมืองฯ กล่าวว่า ในส่วนของตน จะให้เทศบาลฯ ส่งเอกสารประกอบการขออนุญาตโครงการศุภาลัย เพื่อที่ กมธ. จะได้ตรวจสอบต่อไป

แสดงความคิดเห็น