จ.พิษณุโลกเตรียมเพิ่มโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยโควิดที่อาการปลอดภัยกักตัว 14 วัน

บ่ายวันนี้ 20 เมษายน 2564 นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิษณุโลก เดินทางลงพื้นที่สำรวจอาคารหอพักนิสิต 2 อาคาร ภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อประมวลสภาพความพร้อมรองรับการจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนามอีกแห่งหนึ่งของจังหวัด โดยแต่ละอาคารมีห้องพัก 120 เตียง สามารถรองรับผู้ป่วย รวม 240 คน ทุกห้องมีห้องน้ำในตัว และติดตั้งเครื่องปรับอากาศในห้องพัก มีการปรับปรุงมาตรฐานการเป็นโรงพยาบาลสนามทั้งนี้จะได้เร่งทำความสะอาด ขนย้ายเตียงนอนเข้าในอาคารในวันศุกร์นี้( 23 เม.ย.2564) และคาดการณ์ว่าจะสามารถเปิดรับผู้ป่วยฯ ได้ในวันจันทร์ที่ 26 เมษายน 2564
จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้เดินทางไปที่โรงพยาบาลสนามพุทธชินราช แห่งที่ 2 (บึงแก่งใหญ่) ตำบลท่าทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก เพื่อตรวจเยี่ยมการทำงานพร้อมให้กำลังใจแก่แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เข้าเวรปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยโควิดที่ไม่แสดงอาการ และ ไม่มีความรุนแรง ซึ่งย้ายมาจากโรงพยาบาลหลักเพื่อมารักษาและเฝ้าดูอาการอย่างน้อย 5 วัน ก่อนส่งต่อไปโรงพยาบาลสนามอีกแห่งหนึ่ง สำหรับโรงพยาบาลพุทธชินราชแห่งที่ 2 นี้ สามารถรองรับผู้ป่วยฯ จำนวน 30 เตียง แยกเป็นเพศชาย 15 เตียง และ เพศหญิง 15 เตียง ปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้ารับรักษาจำนวน 24 ราย โดยมีแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ให้บริการตามมาตรฐานการดูแลผู้ป่วย 5 ด้าน คือ ด้านการรักษาพยาบาล ด้านอาคารสถานที่ ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ด้านสภาวะจิตใจ ด้านการมีส่วนรวมของชุมชน ตามคู่มือการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ซึ่งผู้ป่วยทุกรายจะได้รับการบริการทางการเสมือนญาติ พร้อมแจกคู่มือการปฏิบัติตนของผู้ป่วยเป็นแนวทางการอยู่ร่วมกันในช่วงระยะเวลาที่กักตัวเพื่อรักษาอาการ
จากนั้นเดินทางไปที่โรงพยาบาลสนาม พัน สร.23 กองบัญชาการช่วยรบที่ 3 ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งสามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยได้ จำนวน 100-150 เตียง และได้เดินทางไปโรงพยาบาลสนามภายในโรงแรมที่ยินดีเข้าร่วมเป็นโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยที่มาพักฟื้นเป็นเวลา 14 วัน ในขณะนี้เตรียมห้องพักจำนวน 220 เตียง โดยมีเจ้าหน้าที่สลับผลัดเวรกันดูแลผู้ที่เข้ากักตัว มีบริการส่งชุดสวมใส่ และส่งอาหาร 3 มื้อตามเวลาที่กำหนด โดยญาติของผู้ที่ถูกกักตัวสามารถนำอาหารรวมทั้งของฝากมาให้ได้ ทางเจ้าหนี้จะนำไปให้ตามเวลาของการให้อาหารในรอบต่อไป
นอกจากนี้ ได้มีความร่วมมือจากโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนาม เช่น โรงพยาบาลวังทอง ขนาด 20 เตียง โรงพยาบาลจิตเวช 30 เตียง และ อื่นๆ
สำหรับแนวทางการปฏิบัติเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของจังหวัดพิษณุโลก เป็นการดำเนินการโดยความร่วมมือหน่วยงานราชการ สถานพยาบาล สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจโรงแรม โดยจำแนกผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อฯเข้าทำการรักษาภายในโรงพยาบาล 5-7 วัน ก่อนส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการปลอดภัยไปที่โรงพยาบาลสนาม ช่วยแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลหลัก ลดความแออัด และให้ผู้ป่วยพักฟื้นกักตัวต่อเป็นระยะเวลา 14 วัน ก่อนอนุญาติให้กลับไปกักตัวต่อที่บ้านพักอีก 14 วันจึงจะถือว่าปลอดภัยตามข้อกำหนดกรมควบคุมโรคติดต่อ

แสดงความคิดเห็น