รมว.จุติเปิดการจัดอบรมปลุกผู้นำสตรี 17 จังหวัดภาคเหนือให้รู้สิทธิทางการเมือง

 

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.65 ที่โรงแรมเรือนแพ รอยัล ปาร์ค อ.เมือง จ.พิษณุโลก นายจุติ  ไกรฤกษ์  รัฐมนตรีว่าการกระกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อส่งเสริมสถานภาพการมีส่วนร่วม และการตัดสินใจของสตรี 17 จังหวัดภาคเหนือ รุ่นที่ 1 โดยมีนางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลักการเสริมพลังสตรี และส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ จึงได้จัดการสัมมนา เชิงปฏิบัติการ เพื่อส่งเสริมสถานภาพการมีส่วนร่วม และการตัดสินใจของสตรี   ระหว่างวันที่ 15 – 17 ธันวาคม 2565

 

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้สตรี มีความรู้ ความเข้าใจ ตระหนักในบทบาทหน้าที่ของตน และเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในสังคม ซึ่งจะก่อให้เกิดกลไกสำคัญในการสร้างสังคม เสมอภาค สร้างการมีส่วนร่วมของสตรีในการจัดทำนโยบาย และมาตรการของรัฐบาล รวมทั้งเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน ประเทศให้เข้มแข็งและยั่งยืน  กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ผู้นำสตรี คณะกรรมพัฒนาสตรีจังหวัด และอาสาสมัคร พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จาก 17 จังหวัดภาคเหนือ วิทยากร ผู้บริหาร กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพิษณุโลก เจ้าหน้าที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และผู้สังเกตการณ์ รวมทั้งสิ้น 95 คน

 

สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้  ได้รับเกียรติจากนางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์  สมาชิกวุฒิสภาบรรยายพิเศษเรื่อง บทบาทของสตรีกับการส่งเสริมสถานภาพ   และมีคณะวิทยากร  จากสมาคมส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาค 4 ท่าน ได้แก่ น.ส.รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท  นายอาธิศักดิ์ จอมสืบวิสิฐ น.ส.ภัชรา คติกุล และโสภา ไชยวรรณ มาให้ความรู้ที่เป็น ประโยชน์ต่อการทำงาน  และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติ จิตสำนึกสาธารณะและการเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ของสตรี  การมีส่วนร่วมและการตัดสินใจของสตรี เพื่อการมีชีวิตที่ดีในสังคม

นายจุติ กล่าวว่า วันนี้สังคมไทยมีปัญหามาก ครอบครัวที่มีปัญหา คิดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ของครอบครัวทั้งประเทศ ผู้หญิงมีจำนวนมาก ซึ่งคิดเป็น 51 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ ดังนั้น ผู้หญิงควรเข้ามามีบทบาทในการ ซ่อม สร้าง เสริมสังคมให้เข้มแข็ง ทั้งนี้ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เคยมีโมเดลที่ทำไว้ พบว่า สตรีที่มีการรับรู้ และได้รับการส่งเสริมการแสดงออก ส่งเสริมศักยภาพ พวกเขาเหล่านี้จะกล้าเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่  จังหวัดพิษณุโลกซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งของภาคกลางตอนบนและภาคเหนือตอนล่าง และยังติดกับภาคอีสาน ผู้หญิงที่เคยได้เข้ารับการอบรมลักษณะใกล้เคียงนี้  มีการกลับเข้าไปสมัครเป็นผู้ใหญ่บ้าน แม้จะไม่ได้ประสบความสำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม แต่จะเห็นได้ว่าผู้หญิงกล้าเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้นหลายเท่า ซึ่งต่อไปเราจะทำเป็นโครงการแม่ไก่ ขยายต่อยอดไปยังภาคกลางและภาคใต้ เราไม่เคยปลดปล่อยศักยภาพของผู้หญิงอย่างเต็มที่ มูลค่าทางเศรษฐกิจปัจจุบันมีเท่านี้  ถ้าผู้หญิงได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เข้ามามีบทบาทกำหนดชี้ชะตาประเทศมากขึ้น เชื่อว่าประเทศไทยจะไปได้ไกลกว่านี้แน่นอน

แสดงความคิดเห็น