พนังดินกั้นน้ำวังทองแตก ชาวบ้านเร่งทำบิ๊กแบ็คอุด หวั่นท่วมนาข้าว 2500 ไร่

วันที่ 11 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าถึงแม้ว่าระดับน้ำแม่น้ำวังทอง ในช่วงนี้เริ่มทรงตัวและลดระดับแล้ว แต่ปริมาณน้ำไปไหลลงสู่พื้นที่ต่ำ ในพื้นที่  ต.วังพิกุล อ.วังทอง  ซึ่งเป็นปลายน้ำแม่น้ำวังทอง ที่ขณะนี้กำลังเผชิญปัญหาระดับน้ำค่อนข้างสูงมาก และตลอดเส้นทางของ ต.วังพิกุล 15 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นพนังดิน ที่ยกสูงเกือบ 3 เมตร ตลอด 2 ฝั่ง และมีบ้านเรือนประชาชน และพื้นที่ทางการเกษตรกว่า 2500 ไร่ ที่ต้องอาจจะได้รับผลกระทบจากมวลน้ำของแม่น้ำวังทองได้หากล้นตลิ่ง และล่าสุดเมื่อวานนี้ช่วง 7 โมงเช้า พนังดินกั้นน้ำจุด บ้านวังพิกุล ม.2 ต.วังพิกุล ได้เกิดแตกต้องระดมเครื่องจักรและแรงคนช่วยกันกระสอบทรายบิ๊กแบ็คเข้าอุดรอยรั่วไม่ให้น้ำจากแม่น้ำวังทองทะลักเข้าพื้นที่ทางการเกษตรกว่า 2500 ไร่ได้

นางพีระกานต์ ทองเชื้อ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังพิกุล ได้กล่าวว่า ในพื้นที่ของ ต.วังพิกุล เมื่อวานนี้ช่วง 7.30 น. ได้รับแจ้งจากผู้ใหญ่หมู่ 2 ต.วังพิกุล ว่าเกิดเหตุพนังกั้นน้ำแตก บริเวณ ม.2 บ้านวังพิกุล ต.วังพิกุล ความยาวประมาณ 6 เมตร ทำให้น้ำจากแม่น้ำวังทองทะลักเข้าพื้นที่บ้านเรือนประชาชน จึงได้ประสานไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ขอสนับสนุนรถแบ็คโฮ มาช่วยเร่งอุดรอยรั่วพนังกั้นน้ำที่แตกตลอดทั้งวันของเมื่อวาน แล้วเสร็จเมื่อคืนนี้ ซึ่งก็มั่นในว่าแน่นและน่าจะเอาน้ำอยู่ แต่ปรากฏว่าเช้าวันนี้มีการแตกเพิ่มอีกเป็น 10 เมตร

ซึ่งหากพนังดินกั้นน้ำแตกหรือเอาไม่อยู่ ปริมาณน้ำจะทะลักเข้า จุดนี้ ม.2 และจะทะลักเข้า ม.1 ม.13 ม.8 ต.วังพิกุล อ.วังทอง จ.พิษณุโลก และทะลุไปหา ต.แม่ระกา อ.วังทอง อีกหลายหมู่บ้าน ส่วนพื้นที่ทางการเกษตรกร ที่ชาวบ้านได้ปลูกข้าว ทำไร่ ทำสวน ของ ต.วังพิกุล พื้นที่ประมาณ 2500 ไร่ ก็จะได้รับความเดือดร้อนหากพนักกั้นน้ำจุดนี้แตก ดังนั้นเราจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อกั้นน้ำไว้ให้ได้ และต้องให้ผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่เร่งสำรวจพื้นที่จุดอื่นที่เป็นพนังดิน และเฝ้าระวังจุดอื่นด้วยจนกว่าสถานการณ์น้ำจะลดระดับและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ซึ่งตอนนี้เราได้นำรถแบ็คโฮ 2 คัน ทำภารกิจอุดพนังโดย 1 คันจะอยู่จุดที่พนังแตก คอยตอกเสาเข็มไม้ยูคาทำแนวกั้น จากนั้นรถแบ็คโฮอีกคันจะลำเลียงถุงบิ๊กแบ็คภายในบรรจุทรายเข้าไปเรียงตามแนวเสาเข็มที่ตอกไว้ จากนั้นใช้ดินเทอัดกลบทับเข้าไปให้แน่น เพื่อกั้นทางน้ำ ณ ตอนนี้คาดว่าน่าจะเอาอยู่ แต่ในพื้นที่ของตำบลวังพิกุลเป็นพื้นที่ที่มีแม่น้ำแคววังทองไหลผ่าน แล้วตลอดเส้นทางก็เป็นพนังซะส่วนใหญ่ พื้นที่ของเราทั้งสองฝั่งความยาวประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นพนังดิน สลับกับพนังปูนที่เป็นถนนบ้างบางช่วง ซึ่งในส่วนของที่เป็นดิน เราก็ยังไว้วางใจไม่ได้เพราะส่วนใหญ่จะมีหญ้าปกคลุม และจะมีสัตว์เลื้อยคลาน ขุดเจาะ อาศัยเป็นที่อยู่ ซึ่งอาจจะทำให้ดินไม่หนาแน่น หรือเป็นโพรง พอน้ำมาแรงมากๆ ก็จะทำให้เป็นรอยกว้างจนพนังดินได้รับความเสียหายหรือแตกได้ จึงต้องเฝ้าระวังในจุดอื่นๆด้วย ซึ่งพื้นที่ ต.วังพิกุลของเราเป็นพื้นที่แอ่งกระทะ พร้อมจะรับน้ำตลอดเวลา หากด้านโซนปริมาณน้ำเยอะมวลน้ำจะไหลมาวังพิกุล ซึ่งวังพิกุลของเราจะเป็นจุดสุดท้ายที่เป็นพื้นที่รับน้ำก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำน่านต่อไป

 

////////////////////

 

แสดงความคิดเห็น