“หมออาย”…  ภารกิจทันตภิบาลผู้ดูแลปกป้องรอยยิ้มชุมชนคนสมอแข  

เรื่องของสุขภาพปากและฟันเป็นความสำคัญในชีวิตเรื่องหนึ่ง  ซึ่งอาการปวดฟัน และโรคในช่องปากล้วนแล้วแต่เป็นความทุกข์ของผู้คนทั้งสิ้น โดยเฉพาะผู้คนในท้องถิ่น ที่ดูเหมือนหมอฟันกับชาวบ้าน เป็นเรื่องที่ไกลห่างกันพอสมควร  เพราะหมอฟันในโรงพยาบาลก็คิวยาว จะไปเอกชนก็ต้องเตรียมค่าใช้จ่ายไปพอสมควร  ที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนตำบลสมอแข จ.พิษณุโลก เป็นที่ทำงานของหมออาย  ธารารัตน์ คุ้มทวี เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุขปฎิบัติงาน ในส่วนคลินิคทันตสาธารณสุข  ซึ่งเปิดบริการ จันทร์ – เสาร์ หยุดวันอาทิตย์

หมออายเล่าให้ฟังว่า มาทำงานที่คลินิกทันตกรรมของรพ.สต.สมอแขมานานกว่า 5 ปี มีหน้าที่ในการรักษาฟันให้กับคนในชุมชน ซึ่งการทำงาน มีทั้งงานในส่วนการรักษาฟัน ซึ่งก็จะมีการนัดหมายคนไข้ได้วันละ 10 คนช่วงเช้า สำหรับช่วงบ่ายก็จะเป็นภารกิจในการเข้าพื้นที่ทำงาน ตรวจสุขภาพฟันเด็ก ๆ ในพื้นที่ รับผิดชอบ อบต.สมอแขทุกโรงเรียน   ซึ่งที่ผ่านมาก็ถือว่าเป็นงานที่ท้าทาย เพราะเด็ก ๆ กับหมอฟันมักจะไม่ค่อยถูกกันเด็กจะกลัวมาก  การเข้าไปทำงานตรวจสุขภาพฟันเด็กๆ ในโรงเรียนเป็นงานเชิงมาตรการป้องกัน เพราะการดูแลสุขภาพฟันตั้งแต่เด็กจะส่งผลต่อสุขภาพฟันของพวกเขาเมื่อโตขึ้น  เป้าหมายสำคัญคือเด็ก 3 ขวบขึ้นไปซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ต้องหมั่นตรวจตราเพราะจะพบฟันพุมากในช่วงวัยนี้      ภารกิจเชิงรุกของงานทันตกรรม โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสมอแข คือมุ่งเน้นการ ตรวจสุขภาพช่องปากและทาฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุให้กับนักเรียนอนุบาล อย่างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลสมอแข  เพื่อเสริมสร้างฟันให้แข็งแรง ช่วยกระตุ้นให้เกิดการคืนกลับของแร่ธาตุ ยับยั้งการสูญเสียแร่ธาตุออกจากผิวเคลือบฟัน ยับยั้งการย่อยสลายอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้ฟันผุ ชื่อโครงการส่งเสริมสุขภาพช่องปากนักเรียนชั้นประถมศึกษา “ฟันแท้อยู่ครบเมื่อจบ ป.6 (นำร่อง 1 ตำบล 1 โรงเรียน) ในตำบลสมอแข ปีงบประมาณ 2566

อีกกลุ่มคือผู้สูงวัย  ซึ่งจะมาในอาการปวดฟัน ฟันโยก โรคเหงือก ซึ่งเป็นอีกกลุ่มที่ต้องคอยตรวจดูเพราะ การรักษาฟันชุดเดิมไว้ให้มากที่สุด และใช้ฟันปลอมด้วยก็จะทำให้ปัญหาเรื่องการรับประทานอาหารของผู้สูงวัยจะน้อยลง  แต่หลายคนกับมองว่ารอให้ฟันหมดปากค่อยไปใส่ทีเดียวเสียเงินทีเดียว  แต่หมออายยืนยันว่า โครงการ 30 บาทใส่ฟันฟรี ดูแลไป 5 ปี  เรื่องราวของหมออายในคลินิกทันตกรรมของรพ.สต.สมอแข ถือเป็นกลไกเล็กๆ ที่มีหน้าที่ใหญ่ ๆ อย่างการดูแลสุขภาพปากและฟันของประชากรในตำบล ซึ่งยังมีทันตภิบาลอีกนับ7,300 คน ทั่วประเทศที่กำลังทำงานเช่นนี้  เพราะทุกตำบลย่อมต้องมีผู้ป่วยเรื่องสุขภาพปากและฟันทุกเพศ วัย ที่ต้องรอคอยการรักษา

จากการการสำรวจอนามัยและสวัสดิการของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า 15 ปีที่ผ่านมา คนไทยเข้าถึงบริการทันตกรรมคงที่ คือประมาณร้อยละ 9 แม้จำนวนทันตแพทย์จะเพิ่มมากขึ้นประมาณ 2 เท่า ซึ่งถือว่ามีอัตราการเข้าถึงบริการทันตกรรมอยู่ในระดับต่ำ  อีกทั้งทุกกลุ่มวัยยังมีปัญหาสุขภาพช่องปากในระดับสูง ผลการสำรวจสุขภาพช่องปากแห่งชาติ ครั้งที่ 8 สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย พบว่า ประชากรประมาณ 50% มีฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษา

โดยในปัจจุบันจากข้อมูลของกองบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ณ พฤษภาคม 2565 พบว่ามีจำนวนทันตาภิบาลในปี 2565 มีจำนวนประมาณ 7,300 คน แบ่งเป็น ผู้ที่ปฏิบัติงานในกระทรวงสาธารณสุข 7,196 คน และผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยราชการอื่นๆ ประมาณ 120 คน    โดยสัดส่วนทันตาภิบาลที่ทันตแพทยสภาเห็นชอบสำหรับการปฏิบัติงานในคณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ คือ ทันตาภิบาล 1 คน ต่อ ประชากร 5,000 คน หรือ ทันตาภิบาล 2 คน ต่อ 1 ทีมหมอครอบครัว ดังนั้นจากเป้าหมายประเทศไทย ในการพัฒนาทีมหมอครอบครัวจำนวน 6,500 ทีมในระยะเวลาสิบปีนั้น จึงมีความต้องการทันตาภิบาลทั้งสิ้น 13,000 คน     จากข้อมูลดังกล่าว พื้นที่ตำบลชุมชนที่มีทันตภิบาลประจำรพ.สต.จึงถือเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อม ในการดูแลสุขภาพของคนในชุมชนท้องถิ่น  เพราะการดูสุขภาพในช่องปาก เป็นเหมือนอีกตัววัดคุณภาพชีวิตของผู้คน  ที่ต้องฝากไว้กับ “ทันตาภิบาลทุกคน”  เพราะรอยยิ้มชุมชนคือหัวใจสำคัญในการให้บริการในพื้นที่ห่างไกล

…..

สุธีร์ เรืองโรจน์ พิษณุโลกฮอตนิวส์

 

แสดงความคิดเห็น