“ไพร คล้อยชาวนา”……ผู้หญิงที่กราบเมล็ดข้าวแทนแม่โพสพเสมอมา .

“เม็ดละหม้อ กอละเกวียน เชิญแม่มาเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานให้โตวันโตคืน
ลูกหลานได้กินข้าว เติบใหญ่ก็ขอให้เป็นคนดี แข็งแรงสมบูรณ์ต่อไป”
เป็นพรที่ป้าไพร คล้อยชาวนา ปราชญ์ชาวบ้านด้านการสืบสานประเพณี บ้านเนินมะคึก หมู่ที่ 6 ตำบลสมอแข อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก กล่าวเชิญขวัญพระแม่โพสพขึ้นยุ้ง หรือที่เรียกกันว่า “เชิญขวัญข้าวขึ้นยุ้ง” เป็นการทำพิธีหลังการเก็บเกี่ยว จากกลางลานข้าวหรือบิ้งนามาที่ยุ้งเก็บข้าว เพราะชาวไทยโบราณเชื่อว่า เมื่อผ่านการนวดข้าวเพื่อเอาเมล็ดออกจากรวง ขวัญของแม่โพสพจะตกใจ อาจหนีหายหรือตกหล่นอยู่ จะต้องเชิญขวัญแม่โพสพให้กลับเข้าไปในเมล็ดข้าว เพื่อช่วยคุ้มครองดูแลข้าวในยุ้ง สมัยก่อนจะมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แม่โพสพ และควายที่นำมาใช้งานหนักในช่วงเพาะปลูก ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมผสมผสานไปกับพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลทางพุทธศาสนา พร้อมกับอธิษฐานขอพรให้มีข้าวเต็มยุ้งในปีหน้า ขอให้ได้ราคาดี มีผลผลิตที่ดีตลอดไป
ความสุขของชาวนายุคป้าไพร ไม่มีวันไหนมีความหมายเท่าวันที่เอาข้าวขึ้นยุ้ง ยุ้งข้าวที่แม้แต่บ้านป้าก็ไม่มีแล้ว เพราะลูกหลานคนรุ่นใหม่ไม่นิยมเก็บข้าวในยุ้งฉางมานานแล้ว หลายคนไม่เป็นชาวนาในความหมายของคนปลูกคนกิน คนนับถือแม่โพสพเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หากแต่อีกกลุ่มคนที่เรียกว่าผู้จัดการนา ที่ต้องจ้างตั้งแต่เริ่มจนจบ แทบไม่มีความผูกพันกับข้าวในนามากนัก คนอย่างป้าไพรที่มาร้องเพลงเกี่ยวข้าว บอกกล่าวก่อนเก็บเกี่ยว และ เที่ยวเชิญข้าวขึ้นยุ้งเก็บ ดูเป็นเรื่องโบราณ ล้าสมัยในสายตาของใครหลายคน ในเมืองสองแควที่แม่น้ำ ยมกับน่านขนน้ำผ่านมาให้ทำนากับแบบยาว ๆ ทั้งปี เป็นที่น่าอิจฉาของชาวนานหลายพื้นที่ สร้างที่นากว่า 1.6 ล้านไร่ กับชาวนา เกือบ 2 แสนคนที่สร้างรายได้เกือบ 7 พันล้านให้เมืองแห่งนี้
วันเก็บเกี่ยว ที่อบต.เขาจัดงานปลูกวันแม่เกี่ยววันพ่อ ตั้งใจใช้พื้นที่สาธารณะทำนาเอาข้าวเป็นทุนอาหารกลางวันเด็ก ๆในโรงเรียน ยายไพรจุดธูปบอกสวดขอพร แม่โพสพก่อนเก็บเกี่ยว มีการบอกกล่าวเพื่อขออนุญาตเก็บเกี่ยวผลผลิต เมื่อเก็บเกี่ยวได้ข้าวแล้วจะประกอบพิธีนวดข้าว เนื่องจากการนวดข้าวในอดีตนั้นจะเอารวงข้าวฟาดลงกับพื้นหรือใช้วัวหรือควายมาเหยียบรวง จึงต้องบอกกล่าวขอขมาพระแม่โพสพ เมื่อนำข้าวเปลือกมาเก็บที่ยุ้งฉางก็ประกอบพิธีเปิดยุ้งหรือเปิดฉาง แล้วนำผลผลิตแรกเก็บเกี่ยวที่ได้ไปทำทานข้าว คือการนำข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ในครั้งแรกไปทำบุญกับพระสงฆ์ ซึ่งเรียกว่าเทศกาลสารทเดือน 10 เพียงแต่ข้าวนานี้ ถูกใช้ทุนอาหารกลางวันที่ทุกฝ่ายมองว่า เป็นกุศลสามัคคีที่ชุมชนจะได้ช่วยกัน
แม่โพสพของป้าไพรจึงอยู่ในทุกช่วงเวลาของการทำนา ซึ่งเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่รักษาต้นข้าว ดังนั้น ในทุกๆ กระบวนการตั้งแต่ก่อนลงมือปลูกข้าวไปจนถึงหลังการเก็บเกี่ยว ชาวนาจะประกอบพิธีกรรมต่างๆ เพื่อบอกกล่าว ขออนุญาต และขอขมาแม่โพสพ ทั้งนี้ โดยเชื่อว่าจะทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร อันนำมาซึ่งความสุขของคนในสังคม แน่นอนว่าพิธีกรรมท้องนาดูจะห่างหายไปในยุคสมัยที่ราคาข้าวไม่เคยแน่นอน ชาวนายุคใหม่ อาจรอฟังรัฐบาลเรื่องมาตรการช่วยเหลือ ไม่เหมือนคนอย่างป้าไพร ที่รอฟังฟ้าฝนมองความเป็นจริง มีแม่โพสพเป็นขวัญกำลังใจ เพื่อทำมาหากิน เลี้ยงครอบครัว ก่อนเสียงเพลงและบทอธิฐานของ ป้าไพรจะจบลง หญิงชราที่มักจะเดินเก็บรวงข้าวหลังฤดูเก็บเกี่ยว ด้วยความเสียดายที่รถเกี่ยวอาจจะทำร่วงหล่นไว้ ในขณะเดียวกันปริมาณข้าวเหล่านี้ เก็บดี ๆ เอาไปสีหุงกินได้หลายมื้อ คนไม่มีไร่นาเคยฝากชีวิตไว้กับข้างร่วงข้าวหล่นมานักต่อนัก หลุดรอดจากนั้นต้องถามคนเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งก็จะรู้ ว่าข้าวตกหลังฤดูเก็บเกี่ยวยังช่วยดูแลฝูงเป็ดไล่ทุ่งได้ไม่น้อย
เรื่องราวป้าไพรลูกแม่โพสพ ยังคงต้องมีญาติพี่น้องแม่โพสพ ทั้งแม่พระธรรณี แม่คงคง ที่มักเป็นขวัญกำลังใจ
ของป้าไพร และพี่น้องเกษตรกรชาวนาน้อยใหญ่ทั้งหลาย เพื่อให้ประเทศนี้มีข้าวกินต่อไป ให้คนกินข้าวเข้าใจความหมายของข้าวมากกว่าแค่อิ่ม แต่รู้ความหมายของข้าวกับชีวิตเพิ่มมากขึ้น…
.
สุธีร์ เรืองโรจน์ พิษณุโลกฮอตนิวส์

แสดงความคิดเห็น