เปิดงานของดีเมืองพรหมพิรามปีที่ 22

พิษณุโลก เริ่มแล้ว งาน “สักการะท้าวมหาพรหม ชมเบญจมาศทุ่งสาน สืบตำนานพรหมวิถี และของดีเมืองพรหม”   สีสันแข่งขันจับปลาไหล สนุกสนาน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก นายภูสิต สมจิตต์  ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานเปิดงาน “สักการะท้าวมหาพรหม ชมเบญจมาศทุ่งสาน  สืบตำนานพรหมวิถีและของดีเมืองพรหม” ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 2-11 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจน ที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจให้กับประชาชน รวมทั้งเพื่อส่งเสริมสนับสนุนความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และส่งเสริมการดำเนินงานตามแนวทางเศรษฐกิจชุมชน  พึ่งตนเองและส่งเสริมให้ความรู้ด้านการประกอบอาชีพปศุสัตว์  ตลอดจนเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ของดีของอำเภอพรหมพิราม ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายและกระตุ้นให้ประชาชนในท้องถิ่นมองเห็นคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่  และสามารถนำทรัพยากรนั้นๆ  มาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และเป็นเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนและเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของอำเภอพรหมพิรามและจังหวัดพิษณุโลกต่อไป.

นายณรงค์ไชย บุตตวงค์  นายอำเภอพรหมพิราม กล่าวว่า อำเภอพรหมพิราม เป็นอำเภอที่มีประวัติการก่อตั้งค่อนข้างยาวนาน  จากประวัติพบว่าพ่อขุนบางกลางท่าว  เจ้าเมืองบางยางและพ่อขุนผาเมือง  เดินทัพผ่าน พรหมพิราม เพื่อไปตีเมืองหน้าด่านกับขอม ที่เมืองเชลียงหรือเมืองศรีสัชนาลัย กรุงสุโขทัย นอกจากนี้ยังพบว่าเป็นเส้นทางเดินทัพของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ เพื่อไปทำสงครามกับพระเจ้าติโลกราช แห่งแคว้นล้านนา โดยใช้เส้นทางเดินทัพผ่าน เมืองพรหมพิราม ไปยังเมืองพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ และได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปีพ.ศ. 2438 รวมระยะเวลามากกว่า 128 ปี มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ คือ “ท้าวมหาพรหม” อำเภอพรหมพิราม จึงมีความหมายว่าเมืองสวยงามที่พระพรหม เป็นผู้สร้างขึ้น และมีการจัดงานประจำปีของอำเภอต่อเนื่องทุกปี จนเข้าสู่ปีที่ 22

ภายในงาน มีการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร  วิสาหกิจชุมชน ที่ผลิตขึ้นในพื้นที่ 12 ตำบล  ที่มีความแตกต่าง หลากหลาย เช่น ไก่ดำบ้านเซิงหวาย ตำบลตลุกเทียม ลูกชิ้นตำบลวังวน  ข้าวแตนตำบลหนองแขม  ดอกเบญจมาศตำบลพรหมพิราม แตงโมและเมล่อนตำบลทับยายเชียง  หนูพุกตำบล  ดงประคำ  ข้าวหลามตำบลมะตูม กระยาสารทตำบลวงฆ้อง เต้าเจี้ยวตำบลมะต้อง  และผลิตภัณฑ์จากทุกตำบล ให้เป็นที่รู้จักของประชาชนมากยิ่งขึ้น พร้อมอนุรักษ์และส่งเสริม ประเพณีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาที่เป็นอัตลักษณ์  ของท้องถิ่นอำเภอพรหมพิราม เช่น การละเล่นมังคละ, การประกวดร้องเพลงลูกทุ่งไทย ผู้นำท้องถิ่น/ผู้นำท้องที่ (ลูกน้องร้อง ลูกพี่เชียร์), การประกวด “แม่สาว ลูกสวย”, การเดินแบบผ้าถิ่นไทย,การออกร้านแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์OTOP ของดีเมืองพรหม และสินค้าเกษตร, การออกร้าน “กาชาดพาโชค”, ประกวดข้าวหลาม, ประกวดพืชผล ทางการเกษตร “กล้วยน้ำว้า”, ประกวดอาหารที่ทำจาก “กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง” การ แข่งขันจับปลาไหล,   เพื่อส่งเสริมความรัก ความสามัคคี ปรองดอง และสมานฉันท์ ของพี่น้องประชาชน รวมทั้งให้ประชาชนผู้เสื่อมใส  ได้เข้ามาสักการะท้าวมหาพรหม

////////////

 

แสดงความคิดเห็น