พิษณุโลกร้อน 40 องศา ชาวบ้านแห่ออกมาเล่นน้ำคลองส่งน้ำเข้านาคึกคัก


แห่เล่นน้ำคลองส่งน้ำเข้านาคึกคักชาวบ้านตำบลหัวรอ อำเภอเมืองพิษณุโลก แห่พาบุตรหลานมาเล่นน้ำคลองส่งน้ำเข้านา ตำบลหัวรอกันอย่างคึกคัก ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนมากๆ อุณหภูมิแตะ 40 องศา กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวย่อมๆ ไปในพริบตา
วันที่ 24 เมษายน 2567 พิษณุโลกเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวต่อเนื่อง 40 องศา ทุกวัน ที่คลองส่งน้ำโครงการสูบน้ำพลังงานไฟฟ้าของเทศบาลตำบลหัวรอและกลุ่มผู้ใช้น้ำตำบลหัวรอ ม.1 ตำบลหัวเราะอำเภอเมืองจังหวัดพิษณุโลก ประชาชนชาวบ้านพื้นที่ตำบลหัวรอ และใกล้เคียงต่างพาบุตรหลานมาเล่นน้ำในคลองส่งน้ำกันอย่างคึกคัก ซึ่งคลองแห่งนี้เป็นคลองส่งน้ำเล็กๆ กว้างประมาณ 2 เมตร ลึกประมาณครึ่งเมตร ที่สูบน้ำขึ้นมาจากแม่น้ำน่าน ส่งผ่านคลองไปยังเขตตำบลหัวรอและตำบลปากโทก อำเภอเมืองพิษณุโลก เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ทำนา แต่กลับกลายเป็นว่านับแต่เริ่มสูบน้ำให้ชาวนา (19 เม.ย.67)สถานที่แห่งนี้ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวย่อมๆที่คึกคักไปด้วยผู้คนหนาแน่นมากในช่วงบ่ายถึงเย็น ประชาชนทุกเพศวัยทั้งผู้ใหญ่วัยกลางคนและเด็กๆได้มาเล่นน้ำคลายร้อนกันจำนวนมาก
โดยสภาพอากาศของเมืองพิษณุโลกที่ร้อนอบอ้าวมาอย่างต่อเนื่องทุกวันอุณหภูมิสูงสุดต่อเนื่อง 40 องศา คลองนี้ได้เริ่มส่งน้ำมา ได้ประมาณ 1 สัปดาห์แล้ว และ กำลังจะมีกำหนดหยุดการสูบน้ำ ในเร็วๆนี้ เนื่องจากน้ำของกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ มีเพียงพอต่อการทำนาแล้ว แต่ ณ วันนี้ยังคงสูบน้ำอยู่ จึงทำให้มีประชาชนมาเล่นน้ำอย่างจำนวนมาก ขณะที่ผู้ประกอบการ ร้านค้าต่างๆ ได้มาตั้งร้านขายเมนูอาหารง่ายๆ อย่าง ลูกชิ้นปิ้ง ผัดไทย ยำต่างๆและเครื่องดื่มคลายร้อน ก็ขายดิบขายดี
นายมังกร กันชู รองนายกเทศมนตรีตำบลหัวรอ เปิดเผยว่า คลองแห่งนี้เป็นคลองส่งน้ำที่ดูแลโดยเทศบาลตำบลหัวรอร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำของตำบลหัวรอ ซึ่งเทศบาลตำบลหัวรอ ได้รับการอุดหนุนงบประมาณค่าไฟฟ้าจำนวน 60% สำหรับช่วยเหลือชาวนาเมื่อถึงฤดูทำนา จะเริ่มสูบน้ำจากแม่น้ำน่านขึ้นมาตามลำคลองส่งน้ำ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วชาวบ้านในพื้นที่ตำบลหัวรอต่างก็จะรู้กันดีก็จะพากันมาเล่นน้ำ แต่ปรากฏว่าหลังสงกรานต์เป็นต้นมาสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว และ ด้วยมีการ บอกต่อกันทางโซเชียลอย่างต่อเนื่อง ทำให้จุดนี้เป็นสถานที่เล่นน้ำที่หนาแน่นทุกวัน และปลอดภัยเพราะสภาพน้ำตื้น เด็กเล็กสามารถเล่นได้ ซึ่งเร็วๆนี้ก็อาจจะต้องหยุดการสูบน้ำแล้ว เนื่องจากน้ำในพื้นที่เริ่มพอเพียงต่อการทำนาแล้ว


////////////////////////

แสดงความคิดเห็น