ยื่นหนังสือกองทัพ-จว.-กรมศิลป์ขอให้ฟื้นฟูพื้นที่รอบศาลสมเด็จพระนเรศวรฯกลับมาคงเดิม

พิษณุโลก  กลุ่มเรารักศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นำโดยศิษฐ์เก่ารร.พิษณุโลกพิทยาคม รวมตัวเคลื่อนไหวรณรงค์ คัดค้านการก่อสร้างพระตำหนักหลังใหม่ด้านหน้าศาลสมเด็จฯหลังเดิมในพระราชวังจันทน์ อ.เมืองพิษณุโลก  ยื่นหนังสือต่อกองทัพภาคที่ 3 จังหวัดพิษณุโลก และกรมศิลปากร ให้ดำเนินการปรับปรุงบริเวณศาลสมเด็จฯให้คงในสภาพเดิม

เวลา 10.00 น. วันที่ 26 พฤษภาคม 2561 ที่ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในพระราชวังจันทน์ อ.เมือง  จ.พิษณุโลก กลุ่มเรารักศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นำโดยกลุ่มศิษฐ์เก่าโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ( พ.พ.) หรือ โรงเรียนชาย จำนวนประมาณ 100 คน ได้นัดรวมตัวเพื่อเคลื่อนไหวรณรงค์ ให้มีการรื้อ ย้าย พระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  อาคารหลังใหม่ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ตั้งอยู่หน้าศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หลังเดิม 

การรณรงค์เคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสร้างพระตำหนักฯ หลังใหม่ ของกลุ่มเรารักศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในวันนี้ นำโดยพันเอกเชาว์  เกตุดี ข้าราชการบำนาญ ศิษฐ์เก่ารร.พิษณุโลกพิมพยาคม ประธานพ.พ.14-16 และนายมนตรี  ศรีภิรมย์ เลขาฯพ.พ.14-16 ได้เคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสร้างพระตำหนักผ่านโซเซียล รวมกลุ่มทางเฟซบุ๊คและไลน์ได้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว วันนี้ได้นัดศิษฐ์เก่าพ.พ. และชาวพิษณุโลก ที่มีแนวทางต้องการอนุรกษ์ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หลังเดิม ให้คงอยู่ในสภาพเดิม เพราะหลังจากมีการค้นพบแนวฐานพระราชวังจันทน์ และมีการปรับปรุง ขุดค้นทางโบราณคดีโดยกรมศิลปากร และได้ย้ายโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมทั้งหมดออกไปยังสถานที่แห่งใหม่ แต่ยังคงมีศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หลังเดิม เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพิษณุโลกและศิษฐ์เก่ารร.พิษณุโลกพิทยาคม กระทั่งเริ่มมีการก่อสร้างพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในช่วงปี 2558มาจนถึงปัจจุบัน  ที่ตั้งของพระตำหนักที่ก่อสร้าง อยู่ด้านหน้าศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหลังเดิม เป็นการบดบัง และเป็นการก่อสร้างที่ไม่ได้สอบถามความเห็นของชาวพิษณุโลก

การเคลื่อนไหวในวันนี้  พันเอกเชาว์  เกตุดี ได้นำศิษฐ์เก่าพ.พ.ทำพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาญสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  พร้อมนำศิษฐ์เก่าพ.พ. กล่าวคำปณิธานถวายต่อองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ใจความสำคัญระบุว่า “ กลุ่มเรารักศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และคณะลูก ๆ ของสมเด็จพ่อพระองค์ดำ และพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดพิษณุโลก ได้มีจิตโสมมนัส นำเครื่องสักการะบรวงสรวงเป็นราชพลีถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสการจัดกิจกรรมรณรงค์ อนุรักษ์ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหลังเดิมไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานที่ทรงคุณค่าทางโบราณคดี และทางประวัติศาสตร์คู่เมืองพิษณุโลกและประเทศชาติ มีวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ ชาวพิษณุโลก ขออนุรักษ์ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหลังเดิม และขอให้ปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่บริเวณรอบศาลฯให้กลับสู่สภาพเดิม  สวยงามสมพระเกียรติพระองค์ท่าน กิจกรรมดังกล่าว กระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ปราศจากการเมือง หรือผลประโยชน์ใด ๆ “

หลังจากทำพิธีบวงสรวงแล้ว  พันเอกเชาว์  เกตุดี  ตัวแทนกลุ่มเรารักศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ยื่นหนังสือต่อกองทัพภาคที่ 3 จังหวัดพิษณุโลก และกรมศิลปากร โดยมีพล.ต.สรายุทธ  ปาลิวนัช รองผอ.กอ.รมน.จ.พิษณุโลก พันเอกนภดล  วัชรจิตบวร รองเสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 39 และตัวแทนจากสำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย  พร้อมด้วย พล.ต.ต.ถาวร แสงฤทธิ์ ผบก.ภ.จว.พิษณุโลก   เป็นผู้แทนรับหนังสือจากกลุ่มเรารักศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

นายมนตรี  ศรีภิรมย์ เลขาฯพ.พ.14-16 แกนนำกลุ่มเรารักศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เปิดเผยว่า เราขอเรียกร้องขออนุรักษ์ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไว้คงเดิม และให้ฟื้นฟูให้กลับมาสภาพคงเดิม เพราะพวกเรามีความผูกพันกันมานานในฐานะศิษฐ์เก่าที่เคยเรียนที่โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม จะมีความผูกพันกับศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหลังเดิมมาก เมื่อมีการย้ายโรงเรียนเพื่อฟื้นฟูขุดค้นพัฒนาพระราชวังจันทน์ ได้รื้ออาคารทุกหลังออกไปหมด แต่ยังคงมีศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหลังเดิมอยู่ ขณะที่การก่อสร้างพระตำหนักหลังใหม่ ด้านหน้าศาลฯหลังเดิมนั้น  เท่าที่ทราบเป็นอาคารที่ชาวพิษณุโลกไม่ได้รับทราบมาก่อน ไม่ได้มีการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งที่ผ่านมา มีการเรียกร้องมาเป็นระยะ ๆ แต่ไม่ได้รับความสนใจ รับรู้ และเป็นเสียงส่วนน้อย แต่ครั้งนี้หลังจากเคลื่อนไหวผ่านสื่อโซเซียลที่ผ่านมามีผลมากต่อทุกกลุ่ม ให้ตระหนักรู้ว่า ชาวพิษณุโลกได้พบของดีแล้ว พระราชวังจันทน์อายุกว่า 400 ปีแล้ว เป็นที่พระราชสมภพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หลังเดิมนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำพิธีเปิดศาลเมื่อปี 2505 ซึ่งมีความผูกพันและปราบปลื้มสำหรับชาวพิษณุโลกและศิษฐ์เก่าร.ร.พิษณุโลกพิทยาคมเป็นอย่างมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากดำเนินการย้ายโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม และพัฒนาพระราชวังจันทน์ ได้รื้ออาคารทุกหลังของโรงเรียนออกหมดแล้ว ยังคงเหลือบริเวณศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่มีลักษณะเป็นรูปทรงวงรี และเป็นจุดที่ชาวพิษณุโลกเดินทางมาสักการะสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นสถานที่ประกอบรัฐพิธีสำคัญในโอกาสต่าง ๆ ช่วงปี2558 หลายภาคส่วนนำโดยกองทัพภาคที่ 3 จังหวัดพิษณุโลก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร  ได้เริ่มทำโครงการพัฒนาพระรางวังจันทน์ และกำหนดสร้างพระตำหนักศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขึ้นมา เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติ และเป็นอนุสรณ์สถานแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีการทำวัตถุมงคลเพื่อนำรายได้มาพัฒนาพระราชวังจันทน์ จากเดิมออกแบบสร้างใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมไทยสมัยอยุธยาตอนต้น มีเครื่องยอดเป็นปรางค์ 5 ยอด ขนาดอาคารกว้าง 12 เมตร ยาว 49 เมตร มีพิธีเทคอนกรีต หล่อเสาเข็มเอก เพื่อเป็นปฐมฤกษ์ในการเริ่มการก่อสร้างพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2558 และได้เริ่มก่อสร้างฐานราก ขึ้นโครงสร้างตัวอาคารขึ้นมา ต่อมาช่วงต้นปี 2560 ได้มีการปรับรูปแบบการก่อสร้าง มีการดัดแปลงโครงสร้างส่วนหลังคาจากเดิมที่มีพระปรางค์อยู่บนยอด เปลี่ยนเป็นหลังคาทรงบุษบก ไม่มียอดพระปรางค์ – ตัวผนังพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระราชวังจันทน์ เป็นผนังแบบปิดโดยใช้ไม้จันทน์ หรือไม้สัก เป็นวัสดุหลัก กระทั่งถึงปี 2561 การก่อสร้างดูเสมือนไม่คืบหน้า คงค้างโครงสร้างหลักมาเป็นระยะเวลาหลายเดือน กระทั่งช่วงเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม 2561 เริ่มมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหลังเดิมทางโซเซียล กระทั่งเริ่มกิจกรรมรณรงค์เคลื่อนไหวยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันนี้ 

ทั้งนี้งบประมาณก่อสร้างพระตำหนักฯ วงเงิน 43 ล้านบาท แบ่งเป็นงบจำนวน 23 ล้านบาท ได้จากการบริจาคหรือบูชาพระ ทหารได้ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างแล้วเสร็จ ขณะที่งบประมาณอีก 20 ล้านเป็นในส่วนของงบประมาณกลุ่มจังหวัด ซึ่งยังไม่ได้เบิกจ่ายตามงวด โดยมีสำนักศิลปากรที่ 6 เป็นผู้ควบคุมดูแล บริษัทเอกชนที่ได้ประมูลงานและทำสัญญาไปแล้ว ปัจจุบันกำลังเตรียมก่อสร้าง อยู่ระหว่างแก้ไขปรับปรุงแบบก่อสร้าง มีระยะเวลาก่อสร้าง 435 วัน เริ่มสัญญาวันที่ 12 กรกฏาคม 2560 สิ้นสุดสัญญา 19 กันยายน 2561

…………………………………………………………………………

ข่าวที่เกี่ยวข้อง  พิธีเทคอนกรีตหล่อเสาเข็มเอกตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ปรับแบบการก่อสร้างพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

 

 

 

แสดงความคิดเห็น