ปิดให้เข้าชมบ้านโบราณบางระกำอายุ 130 ปี ทายาทรุ่นสี่เผยแบกภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว

วันที่ 30 กันยายน 2563 ที่บ้านเลขที่ 152 ชุมชนบ้านเหนือ ต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก แหล่งท่องเที่ยวชมบ้านไม้สักรูปทรงแปลก มีผนังบ้าน 6 เหลี่ยม ที่ก่อนหน้านี้มีถึง 8 เหลี่ยม อายุ 130 ปี เป็นบ้านหลังเดียวของเมืองพิษณุโลกที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร หลังจากคุณลุงสณัฐ อำไพพงษ์ ข้าราชการบำนาญที่ภายหลังเกษียณอายุราชการจากการท่าเรือ ผู้เป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลอำไพพงษ์ได้กลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด และอนุรักษ์บ้านทรงโบราณหลังนี้ไว้ประชาชน อาจารย์ นักศึกษาได้เข้าชมหลายปีแล้ว แต่หลังจากคุณลุงสณัฐ เสียชีวิตลงเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ด้วยวัย 79 ปี บ้านหลังนี้ก็ปล่อยทิ้งรกร้าง ไม่มีผู้ดูแลต่อ สภาพหน้าบ้านเต็มด้วยวัชพืช

และต่อมา ทายาทรุ่นที่ 4 พ.อ.อ.นิธิศ  ธนะชูติวีรนันท์ อายุ 38 ปี อดีตทหารอากาศที่ลาออกจากราชการและกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด อ.บางระกำ ได้เข้ามาปรับปรุงบูรณะบริเวณบ้าน เพื่อจะเปิดโอกาสให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ได้เข้าชมบ้านโบราณอายุ 130 ปีได้อีกครั้ง เมื่อปี 2562 ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณด้านหน้า ถากถางวัชพืช เปิดมุมกาแฟ ให้ผู้สนใจเข้าชมฟรีมาได้ร่วม 1 ปี  ในช่วงแรก ๆ ที่เปิดให้ชมโดยไม่คิดค่าเข้าชม ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งในพิษณุโลกและต่างจังหวัดเข้ามาชมอย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากนั้น นักท่องเที่ยวเริ่มหดหาย ทายาทรุ่นที่4 จึงประกาศยุติการเปิดบ้านให้เที่ยวชม โดยในวันที่ 3-4 ตุลาคมนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถมาเที่ยวชมและเก็บภาพที่ระลึกได้ เป็นครั้งสุดท้าย

พ.อ.อ.นิธิศ หรือ เฟริส เปิดเผยว่า  บ้านหลังนี้เดิมตั้งอยู่ริมแม่น้ำยม อำเภอบางระกำ เดิมเป็นบ้านที่มีรูปทรง 8 เหลี่ยม ที่เป็นรูปทรงหนึ่งที่คนจีนโบราณเชื่อว่า เลข 8 จะนำมาซึ่งความมั่งคั่ง ร่ำรวยและนำพาสิ่งดี ๆ อันเป็นสิริมงคลแก่การดำเนินชีวิต ภายหลังแม่น้ำยมเซาะตลิ่งเข้ามาใกล้ตัวบ้าน เจ้าของจึงได้ทำการย้ายให้ไกลออกมาจากฝั่ง โดยใช้วิธีย้ายแบบดีดบ้านและลากเลื่อนมา โดยไม่ต้องรื้อหรือเอาสิ่งของภายในบ้านออก การรื้อยาวครั้งนั้น ตัวบ้านได้เกิดความเสียหายบางส่วนจึงได้ปรับแบบบ้านให้เหลือเพียง 6 เหลี่ยม เพื่อให้เข้ากับพื้นที่ 300 กว่าตารางวาของบริเวณบ้าน และที่เห็นเด่นชัดและสะดุดตาแก่ผู้ผ่านไปมาในชุมชนคือ บานประตูเฟี้ยม ที่เป็นไม้สัก ที่มีความงดงามและยังรักษาได้ในสภาพ ที่ดี

สำหรับบ้านโบราณหลังนี้ เจ้าของบ้านคือนายเป้า หรือ ก๋งเป้า อำไพพงษ์ ( รุ่นที่ 1 ) ที่เกิดในบ้านหลังนี้เมื่อ 114 ปีก่อน หรือ พ.ศ.2448 ส่วนผู้สร้างบ้านหลังนี้คือบิดาของก๋งเป้า คือ แป๊ะส้มมุ้ย แซ่แต้ ที่มายึดอาชีพค้าขายในอำเภอบางระกำ จ.พิษณุโลก จึงประมาณการว่า การสร้างบ้านหลังนี้จะต้องสร้างก่อนก๋งเป้าเกิดประมาณ 15-16 ปี ปัจจุบันพ.ศ.2563 บ้านจึงมีอายุประมาณ 130 ปี

พ.อ.อ.นิธิศ บอกว่า จากคำบอกเล่าของคุณลุงสณัฐ อำไพพงษ์ บ้านหลังนี้บรรพบุรุษได้ตกทอดกันมาจากรุ่นสู่อีกรุ่น โดยใช้ช่างจากกวางตุ้ง สร้างจากไม้สักเป็นท่อน ๆ 60-70 ท่อนซุงในสมัยก่อน มาเลื่อย ช่างใช้เวลาสร้างบ้านประมาณ 1 ปีกว่า หมดค่าจ้างสมัยนั้นประมาณ 7,000-8,000 บาท สำหรับตัวบ้านมีรูปทรง 8 เหลี่ยม มีห้องทั้งหมด 7-8 ห้อง  มีบันไดทางขึ้นถึง 3 ทาง ภายในยังมีพวกข้าวของเครื่องใช้ ที่มีขนาดใหญ่เช่นตู้ โต๊ะ เก้าอี้ ที่เป็นของโบราณมีอายุอยู่คู่บ้านมานาน  ความน่าสนใจคือสถาปัตยกรรมตัวบ้านแบบโบราณ ที่ช่างได้ทำไว้เป็นภูมิปัญญาที่หาดูได้ยาก มีการเตรียมป้องกับภัยโดยมีช่องทางลับ หรือช่องส่องโจร ในการเฝ้าระวังบ้าน มีช่องเก็บสมบัติ ที่เจาะไว้กับเสาเรือน  พื้นบ้านเพื่อป้องกันภัยโจรปล้น   บันไดทางขึ้นบางจุด มีแผ่นไม้ปิด ที่สามารถเปิดจากด้านบนได้สะดวก มีกลอนสลักลงล็อคไว้แน่นหนา ซึ่งโจรไม่สามารถขึ้นมาได้ง่าย   นอกจากนี้แต่ละห้องจะมีช่องลม ให้อากาศถ่ายเท ซึ่งบ้านสมัยปัจจุบันไม่มีให้เห็นแล้ว ส่วนหลังคาเป็นสังกะสีแผ่นหนาที่ไม่ผุกร่อนเหมือนแผ่นสังกะสีในปัจจุบัน บ้านยังคงสภาพสมบูรณ์แบบเหมือนเดิม

สำหรับความน่าสนใจของบ้านหกเหลี่ยมโบราณ อายุ 130 ปี ที่หลงเหลือหนึ่งเดียวในจ.พิษณุโลก นอกจากความทนทานของไม้สัก ที่จะผ่านกาลเวลา และน้ำท่วมสูงบ่อยครั้ง แต่สภาพโครงสร้าง พื้นผนังของบ้านยังมั่นคงแข็งแรง หลังจากที่ทายาทรุ่นที่ 4 เข้ามาปรับปรุงแล้ว จะเปิดให้ผู้สนใจได้ชมบริเวณตัวบ้านมากขึ้น เปิดบานประตูให้กว้างเพื่อรับลมได้มาก และพาชมของโบราณที่ตระกูลเก็บสะสมสืบทอดกันมาทั้งชั้นล่างและชั้นสองของบ้าน โดยเฉพาะบริเวณชั้น 1 นั้น มีโอ่งหยกโบราณอายุ 100 ปีให้ได้ชม เป็นสินค้าแลกเปลี่ยนการค้าของเมืองไทยและจีนในสมัยโบราณ ขณะที่ชั้นสองของบ้านที่มีบันไดขึ้นถึง 3 บันไดนั้น จะเปิดให้ขึ้นได้ 1 บันได ข้างบนเก็บสิ่งของโบราณหลากหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์การค้าข้าวสมัยก่อน ของที่เก่าแก่ที่สุดคือผ้าลายปักจากเมืองจีน ที่มีอายุ 100 กว่าปี และนอกเหนือจากจะเดินชมบริเวณระเบียงชั้นสองได้รอบบ้านแล้ว ยังมีช่องให้ขึ้นไปชมโครงสร้างหลังคาของบ้าน ที่ทำบันไดเพื่อปีนขึ้นไปดูโครงสร้างของบ้านหกเหลี่ยมได้ ที่บ้านสมัยปัจจุบัน ไม่มีการสร้างแบบนี้แล้ว เพราะจะสร้างปิดทึบด้วยแผ่นกระเบื้องทั้งหมด

พ.อ.อ.นิธิศ บอกว่า ที่ผ่านมาเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 08.00 –20.00 น. และเปิดมุมกาแฟให้ผู้สนใจได้สนับสนุน แต่ด้วยสภาพวิกฤตทางเศรษฐกิจ และโรคโควิด 19 ระบาด ทำให้ระยะ 4-5 เดือนที่ผ่านมา แทบไม่มีนักท่องเที่ยวแวะเข้ามาเที่ยวชมเลย บางวันมีรายได้จากการขายกาแฟได้เพียง 30 บาท ทำให้การดำรงชีพอยู่ไม่ได้

ก่อนหน้านี้ ได้มีความพยายาม ในการสร้างให้บริเวณบ้านและพื้นที่ชุมชน เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงถึงกันได้  โดยเมื่อแวะมา อำเภอบางระกำ นักท่องเที่ยวสามารถแวะไหว้พระ ที่วัดสุนทรประดิษฐ์  ชิมก๋วยจั๊บโบราณ  เดินทางมาชมบ้านโบราณ 8 เหลี่ยม 6 มุม อายุ 130 ปี จากนั้นไปเที่ยวชม บ้านไทยทรงดำ วิถีชุมชนไทยทรงดำ เที่ยวชมบึงตะเคร็ง  ก่อนเดินทางไปท่องเที่ยวจุดท่องเที่ยวต่างๆ ได้  แต่ความพยายามไม่เป็นผลเนื่องจากไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลให้นักท่องเที่ยวได้ทราบ  นอกจากนี้ ยังเคยติดต่อ ทางหน่วยงานรัฐเพื่อช่วยเหลือประชาสัมพันธ์ ให้ข้อมูลด้านท่องเที่ยวบ้านโบราณบางระกำ ให้เป็นที่รู้จักกระจายไปทั่วประเทศแต่เรื่องก็เงียบไป  ทำให้หมดหนทางในการสร้างแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นในชุมชน  และด้วยภาระจากการดูแลบ้านโบราณที่มีค่าใช้จ่าย และไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้  จึงตัดสินใจยุติการเที่ยวชมบ้านโบราณทรงแปดเหลี่ยม 6 มุม ไปก่อน เพื่อรอโอกาสอันเหมาะสม หรือทางอำเภอมีแผนฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว ก็จะหวนกลับมาเปิดบ้านโบราณให้เที่ยวชมได้  แต่เวลานี้คงต้องปิดบ้านไว้ก่อน ซึ่งนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบ สามารถแวะมาชมบ้านโบราณได้ในวันที่ 3-4 ตุลาคมนี้เป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งวันนี้กิจกรรมก็จะเปิดบ้านแต่เช้า ให้นักท่องเที่ยวมากินไข่กะทะ อาหารเช้า กาแฟ ก่อนเที่ยวชมถ่ายภาพเป็นที่ระลึกเป็นการอำลาก่อนที่บ้านจะปิด เพราะโอกาสแนวโน้มการเปิดบ้านค่อนข้างลิบหรี่

สำหรับผู้สนใจจะเข้าชมบ้านโบราณทรงแปดเหลี่ยม หกมุม ครั้งสุดท้าย สามารถเดินทางมาชมได้ที่อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก โดยสามารถทางเข้าได้หลายจุด โดยเส้นทางที่สะดวก คือเข้าทางซอยข้างปั๊มน้ำมันซัคโก้  จะอยู่ตรงข้ามกับโรงเรียนบ่อวิทยศึกษา จะมีป้ายบอกว่า เข้ามาที่บ้านโบราณ หรือ ชุมชนบ้านเหนือ เมื่อเข้ามาจากถนนใหญ่ประมาณ 300  เมตร ก็จะพบบ้านโบราณ ติดแม่น้ำยม

………………………………………………………………………

แสดงความคิดเห็น