“ครูวิมล” ผู้สร้างนักปั้นดินเป็นดาว  ผู้ต่อลมหายใจเซรามิคไทย ม.ราชภัฎพิบูลสงคราม

ในตึก สาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเซรามิกส์- ที่สวยงาม ชายหนุ่มที่เรานัดคุยเขา นั่งปั้นดิน อย่างสงบ รอบๆตัวเต็มไปด้วยชิ้นงานปั้นมากมาย ทั้งของเขาเองและของนักศึกษา ในภาควิชา ที่เดินเข้าออก และมาส่งงาน  ดร.วิมล ทองดอนกลิ้ง เป็นอาจารย์หนุ่มไฟแรงประจำภาควิชาเซรามิค ที่ดูเหมือนจะมีเพียง มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามจังหวัดพิษณุโลก ที่จัดการเรียนการสอนเพียงแห่งเดียว จากราชภัฏทั้งหมด 36 แห่งทั่วประเทศ มองผิวเผินสาขาวิชานี้ ก็สอนวิชา เครื่องปั้นดินเผา ใช้ความร้อนสูง ให้ออกมาเป็นภาชนะเครื่องใช้ที่เราเรียกว่า ชิ้นงานเซรามิค ความคุ้นเคยของจานชามถ้วยแก้ว หม้อไห ของผู้คนทั่วไป ที่ดูเหมือน เป็นของธรรมดา  ทั้งๆที่องค์ความรู้ด้านเซรามิค มีมานับพันปี ตั้งแต่ ภูมิปัญญาจีน เป็นผู้คิดค้นเรียนรู้ สร้างเครื่องใช้ไม้สอย สวยงามและยิ่งใหญ่ แพร่หลายไปทั่วโลก ให้ผู้คนใช้ประโยชน์ตั้งแต่จานชามหม้อไห ไปจนถึงวัสดุที่ใช้สำหรับงานกระสวยอวกาศ

คุณค่าและความจำเป็นของวิชาแขนงนี้ จึงไม่เคยหายไป   ดร.วิมลเล่าให้ฟังว่า ภาควิชาเซรามิคเปิดสอนมามากกว่า 37 ปี  เป็นภาควิชาที่ หลายศาสตร์หลายแขนงมารวมกัน ทั้งวิชาการออกแบบการปั้นงานวัสดุศาสตร์ งานดีไซน์  เป็นพื้นฐานสำคัญ  น่าจะเป็นภาควิชาที่บัณฑิต สามารถที่จะเริ่มต้น และจบงาน ได้ด้วยตนเอง  แต่วันนี้สาขาวิชานี้ อาจไม่ได้รับความสนใจมากนัก ปีที่ผ่านมาไม่มีนักศึกษาได้ครบจำนวนที่จะสามารถเปิดสอนได้   ความไม่รู้ของ กลุ่มนักเรียนที่จะมาเป็นนักศึกษาในวิชาเทคโนโลยีเซรามิคนั้น เป็นปัญหาของกภาควิชา อาจารย์วิมลให้ความเห็น  ที่ต้องหาวิธีในการบอกเล่าเรื่องราวของเซรามิก กับชีวิต เพื่อให้เข้าถึง คนรุ่นใหม่ ที่ชอบศิลปะ และงานออกแบบ เพราะเซรามิค ยังมี ความต้องการ ทางอาชีพและตลาดแรงงานอีกมาก ตราบที่งานเซรามิค ยังมีความจำเป็น ในทุกภาคส่วนของชีวิต ตั้งแต่จานใส่ข้าว แก้วชงกาแฟ ไปจนถึงกระสวยอวกาศงานวัสดุเซรามิก ก็ยังทำหน้าที่อยู่     ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ วิศวกรนาซ่า ผู้รับผิดชอบการวิจัยและพัฒนาวัสดุเซรามิก ซึ่งประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมยานอวกาศ  นานกว่า 7 ปี คือคนไทยที่ยืนยันว่า วัสดุเซรามิค เป็นมากกว่างานปั้น  เพราะสามารถใช้ทำเป็นวัสดุฉนวนกันความร้อนให้กระสวยอวกาศมาแล้ว

อาจารย์วิมล ยังเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ งานเซรามิคอีกกว่า 19 รายการ และยังรอจดอีกถึง 16 รายการ รวมทั้งยังทำงานร่วมกับชุมชน บ้านเตาไห สนับสนุนความรู้ด้านการทำเครื่องปั้นดินเผาให้กับ วิสาหกิจชุมชนเครื่องปั้นดินเผาบ้านเตาไห  ต.หัวรอ อ.เมืองพิษณุโลก  ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาโบราณขนาดใหญ่ของเมืองพิษณุโลก ที่มีอายุกว่า 600 ปี  ตั้งแต่สมัยต้นกรุงศรีอยุธยาจากการค้นพบเตาเผาโบราณในชุมชน เรื่องราวตำนานชุมชนเตาไหในอดีตถูกรื้อฟื้นอีกครั้ง โดยทีมงานภาควิชาเซรามิค ซึ่งอาจารย์วิมลมองว่า  เป็นงานบริการวิชาการเป็นพันธกิจของมหาวิทยาลัยที่ต้องดูแลชุมชน ท้องถิ่น ถ่ายทอดความรู้ ให้ชุมชนอยู่ได้ มีรายได้อย่างยั่งยืน ทำมาต่อเนื่อง 10 กว่าปีแล้ว เริ่มจากการวิจัยในโรงเรียนวัดตาปะขาวหาย และความร่วมมือของชุมชน กระทั่งปัจจุบันมีการตั้งกลุ่มวิสาหกิจ มีอาคารของตนเอง ชาวบ้านเริ่มผลิตได้ด้วยตัวเอง

วันนี้สาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเซรามิกส์อาจารย์วิมลยังยืนยันว่ายังมีความต้องการในตลาดแรงงาน และการหันมาเป็นผู้ประกอบการอยู่ เพียงแต่ต้องทำให้เห็นผลงานให้เป็นที่ประจักษ์มากยิ่งขึ้น  วันนี้งานผลิตพระพุทธรูปเซรามิคของที่ระลึก  งานเซรามิคเพื่อการเกษตร  งานเซรามิคเพื่อการพัฒนาชุมชน  ยังคงถูกคิดถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ลมหายใจของงานปั้นที่เป็นมากกว่าจิตวิญญาณการและศรัทธา ที่ดร.วิมลที่เป็นทั้งศิลปิน นักวิชาการ ครูนักปั้นที่เชื่อว่า ดินเมืองพิษณุโลกจะสร้างคน สร้างชีวิตได้เสมอ

..

สุธีร์ เรืองโรจน์  พิษณุโลกฮอตนิวส์

.

แสดงความคิดเห็น