วันหยุดมาฆบูชา นทท.ชมดอกนางพญาเสือโคร่ง-ทุ่งดอกกระดาษช่วงดอกบานโค้งสุดท้าย

พิษณุโลก  บรรยากาศท่องเที่ยววันมาฆบูชา นักท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้นเขาชมความสวยงามโค้งสุดท้ายของดอกนางพญาเสือโคร่งและทุ่งดอกกระดาษพร้อมชิมสตอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 80 ปลอดสารเคมีจากแปลงสาธิตโครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้า
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการท่องเที่ยววันมาฆบูชา ที่โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้า ตำบลเนินเพิ่ม อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากหลั่งไหลขึ้นไปชมความสวยงามของดอกนางพญาเสือโคร่งกว่า 20 ต้นบนโครงการฯ ที่กำลังผลิดดอกเป็นสีชมพูเข้มอย่างสวยงาม พร้อมๆกับชมความสวยงามของทุ่งดอกกระดาษ หลากสีสัน ท่ามกลางสภาพอากาศเย็นสบาย อุณหภูมิเฉลี่ย 25 องศา นอกจากนี้ยังได้ชิมความอร่อยของสตอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 80 ปลอดสารเคมี 100% ที่ปลูกไว้บริเวณแปลงสาธิตของโครงการฯ ที่ขณะนี้กำลังให้ผลผลิตเป็นจำนวนมาก
นายสุภัท จันทร์ลา หัวหน้าโครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้า ได้กล่าวว่า ถึงแม้ว่าในช่วงนี้ทุ่งดอกนางพญาเสือโคร่งที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทยบริเวณยอดเขาภูลมโล ได้โรยราและปิดฤดูการท่องเที่ยวชมดอกนางพญาเสือโคร่งบนยอดเขาภูลมโลไปแล้ว แต่ในทุกๆปีต้นนางพญาเสือโคร่งบนโครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้าของเรา ประมาณ 20 ต้น ที่จะผลิดอกเป็นสีชมพูชุดเก็บตกล็อตสุดท้ายให้กับนักท่องเที่ยวที่พลาดชมจากยอดเขาภูลมโล
โดยในปีนี้ต้นนางพญาเสือโคร่งบนโครงการเพิ่งเริ่มผลิดอกในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และขณะนี้กำลังสวยงามดอกเป็นสีชมพูเข้มเลยทำให้นักท่องเที่ยวที่ทราบข่าวแห่มาชมดอกนางพญาเสือโคร่งชุดเก็บตกล็อตสุดท้ายบนโครงการเป็นจำนวนมาก
ขณะที่ทุ่งดอกกระดาษซึ่งเป็นไฮไลท์ของโครงการที่ชูช่อหลากสีสันมาตั้งแต่ช่วงปีใหม่จนถึงขณะนี้ก็ยังคงความสวยงามอยู่ ทุ่งดอกกระดาษของเราจะมีด้วยกัน 2 แปลงแปลงที่ 1 บริเวณทางเข้าโครงการและแปลงที่ 2 บริเวณจุดชมวิวใต้หน้าผาและคาดว่าจะสวยงามเช่นนี้ไปจนหมดฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงเดือนมีนาคม
และสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาชมความสวยงามของดอกไม้บนโครงการฯในช่วงนี้ก็เป็นจังหวะเดียวกันกับที่สตอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 80 ปลอดสารเคมีจากแปลงสาธิตบนโครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้ากำลังให้ผลผลิตเป็นจำนวนมาก ทำให้นักท่องเที่ยวได้ชิมความอร่อยของสตอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 80 ของเราอีกด้วย

แสดงความคิดเห็น