ทีมวิจัย มรพส.พัฒนาสีย้อมธรรมชาติจากใบมะยงชิด

ดร.พัทวัฒน์  สีขาว อาจารย์ประจำสาขาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จ.พิษณุโลก และคณะทีมวิจัย ได้วิจัยพัฒนาสีย้อมผ้าจากใบมะยงชิด ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่มีแนวความคิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุทางธรรมชาติที่เหลือทิ้ง นับเป็นการสร้างสรรค์และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าสูงสุด

ดร.พัทวัฒน์  เปิดเผยว่า มะยงชิดจัดเป็นไม้ผลท้องถิ่นเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างดี เป็นที่นิยมของผู้บริโภค มีรสชาติอร่อย มีความต้องการของตลาดสูง ราคาจำหน่ายค่อนข้างแพง แต่เนื่องจากมะยงชิดให้ผลผลิตเพียงปีละครั้ง ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพียงครั้งเดียว เป็นสาเหตุทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ไม่แน่นอน นอกจากจะเป็นการจำหน่ายผลเพียงอย่างเดียว ยังมีแนวทางในการสร้างมูลค่าได้จากส่วนอื่นของต้นมะยงชิดได้อีกด้วย มะยงชิดเป็นไม้ผลเมืองร้อนที่ไม่มีการผลัดใบ คือจะมีใบสีเขียวตลอดทั้งปีเช่นเดียวกับมะม่วง ที่มีการศึกษาและวิจัยสาระสำคัญของมะม่วง นำมาใช้ประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านเภสัชกรรม โภชนเภสัช ตลอดจนผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

ตนและทีมวิจัยจึงได้ทำการศึกษา เบื้องต้นพบว่าสารสกัดหยาบเอทานอลของใบมะยงชิด มีสารพฤกษเคมีสำคัญ 3 กลุ่ม ได้แก่ ซาโปนิน ฟีนอลิกและแทนนิน ซึ่งเป็นแหล่งของสารพฤกษเคมีที่อุดมไปด้วยฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญ และสามารถสกัดเป็นสีย้อมได้ จึงเขียนโครงการ “การสร้างอัตลักษณ์และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าทอย้อมสีจากใบมะยงชิดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของชุมชนนวัตวิถีในจังหวัดสุโขทัยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ขึ้นเพื่อขอรับการสนับสนุนทุนในการวิจัย ทั้งนี้เนื่องจาก จ.สุโขทัย ได้รับประกาศจากยูเนสโกให้เป็นเมืองสร้างสรรค์แห่งหัตถกรรม ศิลปะพื้นบ้าน นอกจากนี้ยังเป็นเมืองมรดกโลก โดยมีความโดดเด่นในเรื่องของวิถีชีวิตมีผู้คนเติบโตมาพร้อมกับงานศิลปะ

โดยเฉพาะการทอผ้าตีนจก ซึ่งมีความสวยงาม มีอัตลักษณ์ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักชื่นชอบของนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือนและด้วยศักยภาพของชุมชนบ้านตึก ต.บ้านตึก อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ที่มีการทอผ้าและกรรมวิธีการย้อมโคลนที่เป็นเอกลักษณ์และยังเป็นแหล่งเที่ยวในรูปแบบนวัตวิถีที่โดดเด่นของ จ.สุโขทัย ดร.พัทวัฒน์ เปิดเผยต่อว่า จากนั้นตนและทีมวิจัยได้นำใบมะยงชิด ซึ่งเป็นพืชในท้องถิ่นมาศึกษากรรมวิธีการสกัดสีย้อมเส้นใยไหมและเส้นใยฝ้ายจากใบมะยงชิดในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ร่วมถึงการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้แก่ผ้าทอของชุมชน  เพื่อสร้างรายได้ในแก่ผู้ประกอบการและคนในชุมชน รวมถึงการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของชุมชนนวัตวิถีใน จ.สุโขทัย

โดยทำการศึกษาชนิดและความเข้มข้นของมอร์แดนท์ในกรรมวิธีการย้อมสีเส้นใยจากใบมะยงชิด ศึกษาความคงทนต่อแสงและการซักของเส้นใยย้อมสีจากใบมะยงชิด ศึกษาการย้อมโคลน ออกแบบลายผ้าทอ ออกแบบรูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าทอ พัฒนาผ้าทอต้นแบบจากเส้นใยไหมและเส้นใยฝ้าย ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ชุมชน ตลอดจนการวางแผนการตลาดและจัดจำหน่าย ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวสร้างรายได้แก่เกษตรกรและกลุ่มทอผ้าบ้านนาต้นจั๋นอย่างมั่นคงยั่งยืน เมื่อได้เส้นฝ้ายจากการย้อมสีธรรมชาติ นำมาทอเป็นผืนผ้า โดยการพัฒนาออกแบบลวดลายจากนักออกแบบ และผู้เชี่ยวชาญ และชาวบ้านชุมชนบ้านตึก ช่วยกันพัฒนาลวดลาย จำนวน 3 ลาย ได้แก่ ลายดอกมะยงชิด ลายใบมะยงชิด และลายมะยงชิด นำผ้าที่ได้มาตัดเย็บแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เช่น เสื้อผ้าสตรี เสื้อผ้าบุรุษ กระเป๋าถือสตรี กระเป๋า และอื่น ๆ เป็นต้น

สำหรับวัตถุดิบที่ใช้ในการย้อม ประกอบด้วย ใบมะยงชิดสดหรือแห้ง, เส้นใยธรรมชาติ ได้แก่ ไหม หรือฝ้าย หรือเส้นใยสังเคราะห์อื่นๆ และสารช่วยย้อม (mordant) เช่น สารส้ม ปูนใส เกลือแกง เหล็ก กำมะถัน หรืออาจะใช้ mordant จากธรรมชาติอื่นก็ได้ เช่น ใบสะเดา ใบยูคาลิปตัส ใบมะขาม ใบฝรั่ง น้ำมะขามเปียก เกลือ ขี้เถ้า หรืออาจจะเอาผสมกับพืชชนิดอื่นเพื่อเกิดความหลากหลายของเฉดก็ได้ (อัตราส่วนที่ใช้ สารส้ม ปูนใส เกลือ ใช้ประมาณร้อยละ 5-20, กลุ่ม เหล็ก กำมะถัน คอปเปอร์ ประมาณร้อยละ 0.1 – 5  ส่วนพืช เช่น ใบสะเดา ใบยุคาลิปตัส หรืออื่น ๆ ใช้ประมาณ ร้อยละ 5-40 โดยน้ำหนัก) ส่วนขั้นตอนในการย้อมสีจากใบมะยงชิด เริ่มจากการเตรียมน้ำย้อมสีจากใบมะยงชิด ใช้ใบมะยงชิดสดน้ำหนักร้อยละ 5 – 40 และใบมะยงชิดแห้งน้ำหนักร้อยละ 5 – 40 โดยเลือกเก็บใบมะยงชิด นับจากยอดลงมา 3 – 5 ใบ และใบแก่สีน้ำตาลที่ร่วงจากต้น นำมาล้างน้ำทำความสะอาดผึ่งให้แห้ง จากนั้นหั่นใบมะยงชิดให้มีขนาดเล็กประมาณ 1 คูณ 1 นิ้ว หรือหั่นพอหยาบ ๆ ก่อนนำไปต้มสกัดสีกับน้ำในอัตราส่วนที่ต้องการ (อัตราส่วนที่เหมาะสม คือ 1 : 2.5 และ 1.25 สามารถปรับเพิ่มหรือลดอัตราส่วนการสกัดสีน้ำย้อมได้จะเพิ่มหรือน้อยกว่าก็ได้)

หากใช้อัตราส่วนใบมากขึ้นจะทำให้ได้สีเข้ม อัตราส่วนน้อยจะทำให้ได้สีอ่อนลง กรณีใบแห้งหากใช้ใบแห้งมากกว่าอัตราส่วน 1 :2.5 จะทำให้ยากต่อการสกัดเนื่องจากน้ำจะแห้ง ต้มเป็นเวลา 1 ชั่วโมง หรือ (น้อยกว่าหรือมากกว่า 1 ชั่วโมง ก็สามารถทำได้ แต่ไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง) และเมื่อครบเวลานำสารละลายสีย้อมจากใบมะยงชิดที่สกัดมากรองด้วยผ้าขาวบาง ใส่ภาชนะไว้เพื่อทำการย้อมต่อไป โดยวิธีการย้อม สามารถย้อมตามหลักการการย้อมสีได้ตามสะดวก ซึ่งมีวิธีการย้อมได้ 3 แบบ คือ การย้อมก่อน (Pre-mordant) การย้อมพร้อม (meta-mordant) และการย้อมหลัง (post-mordant) อัตราส่วนการย้อมเส้นใยต่อน้ำย้อม 1:20  (สามารถปรับเพิ่มหรือลดได้ตามความเหมาะสม)

ส่วน เฉดสีย้อมจากใบมะยงชิดนั้นจะอยู่ในโทนสีเหลือง เหลืองอมเขียว โทนสีน้ำตาล และโทนเทา-ดำ ส่วนความเข้มและความสว่างของสีขึ้นอยู่กับปริมาณความเข้มข้นของน้ำย้อมของใบมะยงชิดที่ใช้ และเฉดสีเหลืองจะได้เฉพาะใบสดเท่านั้น สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้โดยตรงกับ ดร.พัทวัฒน์  สีขาว โทรศัพท์หมายเลข 082-1764955

///////////

แสดงความคิดเห็น